คนกรุง-ปริมณฑล รู้ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ยินดีร่วมลดฝุ่น
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องการรับรู้ พฤติกรรม การดูแล ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 95.2 รับรู้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเกือบร้อยละ 50 ยินดีร่วมมือด้วยการปลูกต้นไม้ ลดใช้รถยนต์
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขณะนี้ยังคงมีอยู่เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ประชาชนจึงต้องดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจอนามัยโพล เรื่องการรับรู้ พฤติกรรม การดูแล ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 2,021 หน่วยตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี พบว่าประชาชน ร้อยละ 95.2 มีการรับรู้ฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลต่อสุขภาพในระดับดีมาก โดยรับรู้จาก สื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 87.4 รองลงมาเป็นสื่อ Social Media ได้แก่ Facebook Line Twitter Website นอกจากนี้ ร้อยละ 79.4 ยังรับรู้ว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็กคือเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โดยประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองแบบเฉพาะเพียงร้อยละ 45.3 จึงจำเป็นต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องต่อไป
“สำหรับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พบว่า ร้อยละ 41.2 มีการแนะนำหรือบอกต่อข้อมูลให้คนใกล้ชิด คนรู้จัก ดูแลป้องกันสุขภาพ รวมถึงคอยสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 53.6 สามารถดูแลตนเองด้วยการเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นนำ ติดตัวไปด้วย พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 91.9 คิดเห็นว่าภาครัฐสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจนสามารถปฏิบัติตนและดูแลป้องกันตนเองได้ทันเหตุการณ์ และยังเห็นว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประชาชนเกือบร้อยละ 50 ยินดีให้ความร่วมมือช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็กและลดการใช้รถยนต์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด