ข้าว กข.43 ทางเลือกใหม่ของชาวนา และผู้บริโภค

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรข้าว กข.43 ทางเลือกใหม่ของชาวนา และผู้บริโภค thaihealth


แฟ้มภาพ


ข้าว กข.43 ทางเลือกใหม่ของชาวนา และผู้บริโภค ปริมาณน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ


นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ข้าว กข.43 เป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจ เพราะมีอายุสั้นเพียง 95 วัน ทนทานต่อโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล เป็นข้าวเจ้าที่ผสมระหว่างข้าวสุพรรณบุรี กับสุพรรณบุรี 1 มีการรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 มีการปลูกกันมากที่จังหวัดสุพรรณบุรี คุณสมบัติพิเศษ คือ ปริมาณน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ


จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) เพื่อศึกษาพืชทางเลือกในพื้นที่จังหวัดลำพูน พบว่า นายสุพจน์ ป้อมชัย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำพูน ได้นำพาเกษตรกรในชุมชนบ้านหนองสะลีก ต.ปากบ่อง อ.ป่าซาง จำนวน 7 ราย ปลูกข้าว กข.43 ในพื้นที่ 120 ไร่ โดยเริ่มช่วงฤดูฝนในปี 2561 ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าว กข.43 แทนการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 ซึ่งปลูกมาหลายปี ปรากฏว่า ข้าว กข.43 ได้รับผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ย 820 กก./ไร่ (คิดเป็น 459 กก.ข้าวสาร) ซึ่งผลผลิตสูงสุดสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ถึง 1,060 กก. รวมผลผลิตทั้งหมด 98 ตันข้าวเปลือกในพื้นที่ 120 ไร่ นำมาสีเป็นข้าวสาร ได้ 55 ตัน จำหน่ายได้ในราคา 60 บาท/กก. ภายใต้แบรนด์ "ข้าวทุ่งเสือยิ้ม" มีการขายให้กับ บริษัท ยิบอินซอย จำนวน 15 ตัน นอกจากนั้นขายทางออนไลน์ และแจกจ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผลการตอบรับดีมาก เป็นที่ต้องการของตลาด โดยจำหน่ายหมดไปเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งคุณประโยชน์ของข้าว กข.43 เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากเป็นข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำเพียง 57% ในขณะที่ข้าวหอมมะลิมีน้ำตาล 68% และข้าวเหนียวมีน้ำตาลถึง 98% จึงสามารถลดปริมาณน้ำตาลลงได้จริง


นอกจากนี้ เกษตรกร ยังพึงพอใจผลตอบแทนที่ได้รับ โดยต้นทุนการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 6,045 บาท/ไร่ ต้นทุนในการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ 3,443 บาท/ไร่ รวมต้นทุน 9,488 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้ 27,540 บาท/ไร่ (459 กก. X 60 บาท = 27,540 บาท/ไร่) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 18,052 บาท/ไร่ ดีกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 ค่อนข้างมาก


อย่างไรก็ตาม การจะปลูกข้าว กข.43 ให้ยั่งยืน นอกจากการจัดการในไร่นา เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง การมีมาตรฐานความปลอดภัย และการผลิตภายใต้การเกษตรที่ดีที่เหมาะสม (GAP) แล้ว ยังต้องจัดการเรื่องการตลาดให้มีประสิทธิภาพ โดยการเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มผู้ลดน้ำหนัก และกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงคุณค่าของข้าว กข.43 แก่กลุ่มลูกค้าระดับต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะละเลยไม่ได้ 

Shares:
QR Code :
QR Code