“ข้าวพื้นบ้าน” นักโทษในขวดแก้ว
เมื่อ “ข้าวพื้นบ้าน” กลับคืนสู่ทุ่งนา
“สวัสดีจ้ะ”
“สวัสดี”
“ที่นี่ที่ไหนเหรอ”
“ที่นี่เป็นทุ่งนา ชาวนากำลังปลูกข้าวกันอยู่ เธอไม่รู้เหรอ แล้วเธอมาจากที่ไหนล่ะ”
“ฉันมาจากที่ที่มีอากาศเย็นมากๆ เลย ฉันอยู่ในขวดแก้วของธนาคารเมล็ดพันธุ์จ้ะ มันนานมากแล้วที่ฉันต้องอยู่ในนั้น ที่นี่เป็นทุ่งนาเหรอ ฉันรู้สึกคุ้นเคยจัง เหมือนกับว่าครั้งหนึ่งแม่ของฉันเคยอยู่ที่นี่ มานานมากแล้ว เธอรู้จักข้าวที่หน้าตาเหมือนฉันบ้างมั้ย”
“เอ๊ะ ฉันไม่รู้จักหรอก แต่ทำไมเธอถึงไปอยู่ในขวดแก้วล่ะ”
“เพราะที่นั่นเป็นที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ และเพื่อนำข้อดีของพวกฉันไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้ได้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค เหมาะกับการใช้ปุ๋ย ใช้ยา และมีเมล็ดที่สวยงาม จึงมีข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ตัวตนของข้าวพื้นบ้านอย่างฉันไม่เป็นที่ต้องการสำหรับใครๆ แม้กระทั่งชาวนา ฉันต้องถูกเก็บอยู่ในขวดแก้วเป็นเวลาหลายสิบปี”
“แต่ตอนนี้เธอก็ได้มาอยู่ในทุ่งนาแล้วนี่ไง”
“ใช่ เพราะชาวนาบางคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า ข้าวพื้นบ้านอย่างฉันเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับพวกเขาฉันไม่ทำร้ายดิน ไม่ทำร้ายน้ำ ไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตต่างๆ ฉันกินง่าย อยู่ง่าย ด้วยอาหารหรือปุ๋ยที่มีในธรรมชาติ ฉันรู้จักสภาพแวดล้อมดีกว่าใครๆ เพราะแม่ของฉันบอกเล่าให้ฉันฟังถึงสิ่งต่างๆ ที่ท่านพบเจอ ตอนที่ฉันกำลังเติบโตอยู่บนรวงแม่ยังเล่าถึงความผูกพันระหว่างข้าวกับมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่ต่างให้คุณค่าแก่กันและกัน
มนุษย์เคารพผืนดิน น้ำ และแม่โพสพ ทำให้เข้าใจ และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัว คิดค้นเครื่องมือและวิธีการต่างๆ สำหรับการทำนาและใช้ในชีวิตประจำวัน มีการช่วยเหลือกันเวลาทำนาแบ่งปันเมื่อได้ผลผลิต แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเพื่อปลูก และปลูกข้าวไว้กินเป็นหลัก ทุ่งนาที่เธออยู่เป็นอย่างที่แม่ฉันเล่าหรือเปล่า”
“ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย ฉันอยู่มานานแล้ว แม่ของฉันก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าตอนมาอยู่ที่นาใหม่ๆ นะ พวกเราเป็นคนแปลกหน้าของที่นี่ เพราะที่นานี้มีข้าวอยู่มากหลายพันธุ์ แต่พอพวกเรามาได้ไม่นานข้าวพันธุ์ที่มีมาอยู่ก่อนก็เริ่มหายไป ไส้เดือน หรือแมลงต่างๆ ก็ไม่มี คงเป็นเพราะอาหารที่ชาวนาซื้อมาให้เรากิน และยาที่ฉีดให้เราเพื่อป้องกันโรคแมลง ชาวนาเองก็ไม่ได้มาดูแลข้าวในนาหรอก ถึงเวลาก็มาให้ยา ให้ปุ๋ย ดูน้ำ แล้วก็จ้างรถเกี่ยวเท่านั้น ตอนนี้ฉันคือข้าวพันธุ์เดียวที่อยู่ที่นี่ และไม่มีเพื่อนในนาเลย แล้วเธอจะมาอยู่ที่นี่เหรอ”
“คงจะอย่างนั้น ก็พวกเขาพาฉันออกมาจากขวดแก้ว พาฉันกลับมาที่ทุ่งนาบ้านเดิมของฉัน”
“เธอจะอยู่ได้มั้ย จะปรับตัวได้รึเปล่า”
“ไม่รู้ซิ เพราะฉันเริ่มจำสิ่งที่แม่บอกไม่ได้แล้ว และฉันรู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมือนกับที่แม่เคยเล่าให้ฟังเลย ไม่ว่าจะเป็นผืนดินที่แข็งกระด้าง อากาศที่ร้อนอบอ้าว ไม่มีกระทั่งเพื่อนๆ ที่อยู่ในดินและในทุ่งนา ฉันคงต้องปรับตัวอีกเยอะเพราะสิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนไปมาก ฉันคือข้าวพื้นบ้านที่ต้องอยู่ในขวดแก้วมาแสนนาน ตอนนี้ได้ออกมาสู่โลกภายนอก ก็คงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้ได้ แต่ฉันไม่กลัวหรอกนะเพราะทุ่งนา คือ ที่อยู่ที่แท้จริงของฉัน ฉันจะปรับตัวให้ได้ ฉันจะทำเพื่อชาวนา และคนที่ยังต้องการฉันอยู่ ฉันจะไม่ยอมแพ้หรอก”
“แล้วทำไมชาวนาถึงได้ต้องการข้าวพื้นบ้านอย่างเธอขึ้นมาอีกล่ะ ทั้งๆ ที่ทิ้งเธอไปตั้งนานมากแล้ว”
“คงเพราะพวกเขาเข้าใจแล้วว่า การให้ข้าวชาวบ้านอย่างฉันอยู่ในทุ่งนาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ฉันสามารถปรับตัวให้เข้ากับผืนนาของพวกเขาได้ พวกเขาสามารถเก็บลูกหลานของฉันไว้ปลูกได้ และฉันเป็นของทุกคน อีกอย่างนะฉันรู้สึกว่า พวกเขากำลังหวาดกลัว… หวาดกลัวกับอนาคต เพราะหากวันหนึ่งเมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ได้อยู่ในมือของพวกเขา พวกเขาจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของคนฉวยโอกาสที่เห็นความสำคัญของฉันก่อน โดยทำให้ฉันเป็นสินค้าตั้งแต่การปลูกจนถึงอยู่ในจานของมนุษย์ ชาวนาจะไม่ใช่ผู้ผลิตอย่างแท้จริง เพราะต้องซื้อข้าวราคาแพงมาปลูกและกิน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องกลายเป็นแรงงานที่ปลูกข้าวในที่ดินแปลงใหญ่เป็นลูกจ้างของนายทุน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในนาข้าวก็ต้องถามจากคนขายปุ๋ยขายยา ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองเพราะตัวเองก็ไม่รู้จักข้าวที่ปลูกเหมือนกัน คนกินข้าวก็จะต้องลำบากมากขึ้น ข้าวจะกลายเป็นอาหารที่มีตราสินค้าของบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย และจะมีราคาแพงขึ้น โดยที่พวกเขาไม่สามารถต่อสู้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย”
“ไม่เห็นต้องกลัวเลย ข้าวจะเป็นของใครก็ได้ แต่คนมีเงินซื้อกินซื้อปลูกก็พอ อีกอย่างเธอจะสู้ข้าว กข. อย่างพวกฉันได้เหรอ ชาวนาปลูกแต่ข้าว กข. อย่างฉัน เพราะมองแค่เพียงว่าพวกฉันราคาดี และเชื่อว่าดีกว่าข้าวพันธุ์เก่าๆ อย่างเธอมาตั้งหลายสิบปี คนกินก็เลือกพวกฉันมากกว่า เพราะเม็ดข้าว สวย น่ากิน แล้วเธอแน่ใจเหรอว่าพวกเขาต้องการเธอจริงๆ จะไม่ทอดทิ้งเธออีก พวกเขาจะเชื่อมั่นในข้าวพื้นบ้านพันธุ์เก่าๆ อย่างเธอ พวกเขาจะทำได้เหรอ จะชนะใจตัวเองได้เหรอ”
“ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยฉันก็เชื่อใจชาวนาและคนกินข้าวบางคน ว่ายังต้องการและมองเห็นความสำคัญของข้าวพื้นบ้านอย่างฉัน ไม่ใช่เพียงตามกระแสนิยมชั่วคราวเท่านั้น”
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 27-04-52