‘ข้าวกล่อง’ อิ่มแล้วยิ้มสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเพจ Patom


'ข้าวกล่อง' อิ่มแล้วยิ้มสุข  thaihealth


องค์การอนามัยโลกกำหนดกฎเกณฑ์การบริโภคผักและผลไม้สด วันละ 400-600 กรัม ปริมาณการบริโภคช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น แต่เมื่อย้อนมาดูกระบวนการปลูกผัก ผลไม้ ในบ้านเรา พบการใช้สารเคมีตกค้างจำนวนมาก ผู้บริโภคไม่มั่นใจ อีกทั้งยังขาดโอกาสการเข้าถึงพืชผักปลอดภัย


วิธีการปลูกผักผลไม้ในระบบเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นอีกทางเลือกของการบริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันช่วยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์โดยอ้อม โครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำพืชผักผลไม้และข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตกรในโครงการสามพรานโมเดล ที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ใน จ.นครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียงมาแปรรูปเป็นอาหารกล่อง และเครื่องดื่มน้ำผัก ผลไม้ จำหน่ายที่ร้าน Patom Organic Living (ซอยทองหล่อ 23) รวมทั้งระบบการสั่งซื้อออนไลน์ และการวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน เป็นต้น


'ข้าวกล่อง' อิ่มแล้วยิ้มสุข  thaihealth


อนัฆ นวราช ผู้อำนวยการปฐมและหัวหน้าโครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค และผู้จัดการทั่วไป รร.สามพรานริเวอร์ไซด์ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภครู้ถึงความสำคัญในการบริโภคผักและผลไม้อินทรีย์ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ ให้มีช่องทางการตลาดรองรับมากขึ้น และให้เป็นโมเดลต้นแบบธุรกิจให้ผู้สนใจมาศึกษาและขยายผลสู่ชุมชน โดยเริ่มต้นที่ข้าวกล่องนำผลิตผลจากโครงการสามพรานโมเดลมาต่อยอด เช่นเดียวกับปฐมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่นำผลผลิตจากสามพรานโมเดลมาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อดูแลร่างกาย


ปฐมจึงเป็นปลายน้ำของสามพรานโมเดล ที่เป็นต้นน้ำ ดังนั้น ข้าวกล่องปฐม หัวใจสำคัญอันดับหนึ่งในข้าวกล่องจะเน้นเมนูที่ให้ได้รับประทานผัก โดยยืนพื้นที่น้ำพริก แนมด้วยปลาทอด ไข่เค็ม หรือไข่ต้ม ไก่รวนเค็ม เป็นต้น กินกับข้าวสวย ที่ผ่านการปลูกด้วยระบบอินทรีย์มาจากเกษตรกรจาก จ.สุรินทร์ เมนูน้ำพริก ประกอบด้วย น้ำพริกพริกไทยอ่อน ผัดพริกขิงปลากรอบ แจ่วเห็ดน้ำพริกลงเรือ นอกจากนี้ยังมีเมนูข้าวผัดกะเพรา ข้าวหมู ไก่ ทอดกระเทียม นอกจากนี้ภายข้างกล่องยังมีผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ฝรั่ง มะละกอ มะเฟือง เป็นต้น


"ส่วนผักที่กินแนมให้เน้นผักตามฤดูกาลเช่นเดียวกัน ช่วงไหนมีฟักทอง มะเขือเทศ แตงกวา ผักสลัด ผักบุ้ง มีทั้งแบบลวกและกินสด แต่จะเน้นรับประทานสด ๆ มากกว่า พยายามอธิบาย  ให้ลูกค้าฟังด้วยว่าผักอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นตามฤดู กาลทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีต่อสู้กับแมลง"


สิ่งสำคัญของข้าวกล่องคือเรื่องโภชนา การการันตีได้ครบถ้วน แต่ที่ชัดเจนคือปริมาณของผักที่บรรจุในกล่องจะมากกว่า 200 กรัมในแต่ละกล่อง อุ่นใจได้ว่ากินพืชผักเกือบครึ่งที่องค์การอนามัยโลกระบุ


'ข้าวกล่อง' อิ่มแล้วยิ้มสุข  thaihealth


สำหรับราคาอาหารกล่องราคาตั้งไว้ที่ 130 บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่าย 3% บริจาคให้ มูลนิธิสังคมสุขใจที่ดำเนินโครงการสามพรานโมเดล ซึ่งยอดขายตอนนี้ยังไม่ถึง 100 กล่องในแต่ละวัน หลังจากเริ่มดำเนินการมาประมาณ 3 เดือน แต่เป็นที่น่ายินดีว่าห้างสรรพสินค้าเอ็ม ควอเทียร์ได้เลือก ข้าวกล่องปฐม ไปวางจำหน่ายในห้างเพื่อเป็นทางเลือก


ตลาดอาหารกล่องเพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้คนในเมือง ได้บริโภคพืชผักจากเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์โดยตรง ถือเป็นนับหนึ่ง อนัฆ บอกว่า การขยายต่อไปจะเปิดตลาดข้าวกล่องดิลิเวอรี่สำหรับลูกค้าออฟฟิศ หรือลูกค้าประชุมสัมมนา ซึ่งขณะนี้ได้คุยกับแอพพลิเคชั่นที่รับส่งดิลิเวอรี่แล้ว เช่นเดียวกันรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าช่องทางใดจะถูกหัก  3% เข้ามูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อสมทบทุนในการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกร


นอกจากนี้ ในร้านปฐม จะมีกิจกรรม Organic Farmers, Market ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน เปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรนำสินค้าอินทรีย์มาขายให้กับคนเมืองในราคาผู้ผลิต และมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการบริโภคผัก 400 กรัม เช่น การปั่นจักรยานเพื่อเป็นพลังงานไปปั่นน้ำผักผลไม้ และมีการเวิร์กช็อปทำอาหาร เป็นต้น


กิจกรรมสำคัญของโครงการ พาผู้บริโภคพบเกษตรกรผู้ผลิต คัดเลือก ผู้โชคดีที่มาร่วมกิจกรรม Organic  Farmers, Market โดยพาไปศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ จาก ป้าประหยัด ปานเจริญ ที่ใช้เวลา 14 ปี ในการเปลี่ยนเกษตรเคมีมาเป็นอินทรีย์ ขาดทุนไปร่วมสองแสน ทำให้ได้เห็นว่ากระบวนการปลูกผักผลไม้อินทรีย์นั้น ต้องศึกษาตั้งแต่ดิน แมลง เพื่อใช้ธรรมชาติหยุดแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด กว่าจะสำเร็จได้ผ่านการลองผิดลองถูกไม่รู้จะกี่ครั้ง


ชวลรรค ศิวยาธร คุณแม่วัย 39 ปี มาร่วมกิจกรรมกับลูกสาว วัย 6 ขวบ นิโคล มาเรีย อาราเนตา เล่าว่า ปกติจะเลือกซื้อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว และเลือกผักที่ปลอดภัยแต่ก็ไม่รู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยเพราะมีข่าวออกมาว่าพบผักในห้างตรวจพบสารเคมีเกิน อีกทั้งราคาค่อนข้างแพง แต่จะพยายามล้างหลาย ๆ ครั้ง และไม่รู้มาก่อนกว่าจะได้ผักที่ไม่ต้องใช้สารเคมีนั้นเกษตรกรต้องอดทนมาก แต่เมื่อเราลงพื้นที่ทำให้มั่นใจว่าพืชผักที่มาจากโครงการสามพรานโมเดลนั้นปลอดภัยจริง ๆ


โครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์ แม้จะยังไม่มีเครือข่ายที่กว้างขวางแต่โมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคม ที่กลายเป็นแกนกลางให้เกษตรกรและผู้บริโภคจะเชื่อมโยงเข้าหากัน…เพื่อผลลัพธ์ทางสุขภาพใจและกายและช่วยสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้ยึดอาชีพเกษตรกร (อินทรีย์)

Shares:
QR Code :
QR Code