ข้อคิดเตือนใจ สำหรับวัยเกษียณสุข

เรื่องโดย :  พัชรี บอนคำ team content  www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก :  คู่มือเงินทองต้องวางแผน ตอนเกษียณสบาย สไตล์วัยเก๋า


ข้อคิดเตือนใจ สำหรับวัยเกษียณสุข thaihealth


แฟ้มภาพ


                พอถึงวัยเกษียณเชื่อว่าใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่สงบสุข หลังจากที่ได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้สูงอายุในวัยเกษียณบางคนก็อาจต้องเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงจากการโดนหลอกอย่างหลากหลายสาเหตุ จนทำให้สูญเสียเงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิต ในวันนี้เรารวบรวมแนวทางในการระวังมิจฉาชีพมาฝากกันค่ะ


ระวังคนใจร้าย


                ผู้สูงอายุมักเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ เพราะมักจะมีเงินก้อนใหญ่และถูกหลอกได้ง่าย ในต่างประเทศมีการเก็บสถิติเอาไว้ด้วยว่า 80% ของคนที่ถูกฉ้อโกง ต้มตุ๋น และหลอกลวง จะเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ พบว่า เหตุผลหนึ่งที่ผู้สูงอายุถูกหลอกได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว คือ สมองที่มีหน้าที่ตรวจจับ “ความไม่น่าไว้ใจ” จะทำงานลดลงเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี ทำให้ความรอบครอบในการตัดสินใจและความหวาดระแวงคนแปลกหน้าลดลง ขณะที่กลไกที่มิจฉาชีพจะนำมาใช้หลอกลวงเงินในกระเป๋าผู้สูงอายุมักจะมีสองเรื่องคือ ลวงให้โลภ และ หลอกให้กลัว แต่อาจเปลี่ยนตัวละครไปเรื่อยๆ เช่น


– หลอกว่า ถ้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูง


– หลอกว่า เป็นผู้โชคดีได้รางวัลใหญ่


– หลอกว่า มีส่วนพัวพันกับคดียาเสพติด


– หลอกว่า ญาติห่างๆ ทิ้งเงินประกันไว้ให้


– หลอกว่า ติดหนี้บัตรเครดิต


– หลอกว่า บัญชีเงินฝากถูกอายัด


7 วิธีป้องกันการถูกหลอกจากมิชฉาชีพ


                1.ตั้งสติ : ถ้าได้รับโทรศัพท์จากคนไม่รู้จักต้องตั้งสติให้ดี ค่อยๆ คิดทบทวนเรื่องที่เขากุขึ้นมานั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน


                2.ไม่โลภ : ความโลภอยากได้ มักจะทำให้ขาดการยั้งคิดและถูกหลอกง่าย เพราะฉะนั้นต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ ในเวลาสั้นๆ หรือของที่มีราคาถูกผิดปกติ ไม่มีอยู่จริง


                3.ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ : แม้จะอ้างว่าโทรศัพท์มาจากหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน ก็ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว เพราะหน่วยงานราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวผ่านทางโทรศัพท์


                4.กล้าปฏิเสธ : ต่อให้เป็นคนรู้จัก คนที่ไว้ใจมาชักชวนให้ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเกินจริง หรือทำธุรกิจที่น่าจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ก็ต้องรู้จักปฏิเสธบ้าง


                5.ตรวจสอบก่อนตัดสินใจ : มิจฉาชีพมักมีวีธีพูดที่ทำให้เราคล้อยตามและต้องตัดสินใจทันที แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ต้องตรวจสอบไปที่หน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน ที่ถูกอ้างถึงเสียก่อนว่าจริงเท็จอย่างไร


                6.ไม่ทำตามคำบอก : มิจฉาชีพส่วนใหญ่จะพยายามหว่านล้อมให้ผู้สูงอายุไปทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ โดยจะคอยบอกขั้นตอนและวิธีการ ที่ท้ายสุดแล้วจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีมิจฉาชีพ (ส่วนใหญ่จะเริ่มจากให้เปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ)


                7.ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ : การติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะการเตือนภัย จะช่วยให้รู้เท่าทันวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ และไม่ทำให้ตกเป็นเหยื่อกลโกง นอกจากนี้ควรหาความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติม เพราะความรู้ความเข้าใจจะเป็นเกาะป้องกันภัยได้เป็นอย่างดี


                เราการันตีไม่ได้ว่าท่านที่อ่านบทความนี้จะไม่โดนหลอกเลย แต่อย่างน้อยคงพอให้ทุกท่านรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมคนใจร้ายและไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเสียเงินเสียทองให้มิจฉาชีพเหล่านั้นไป


                ถ้าหากท่านใดสนใจ อยากเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น สสส. มีนิทรรศการ “ชราแลนด์ ดินแดนวันเดอร์เวิลด์” ที่จะจัดถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ณ โซนนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เท่านั้น อย่าลืมมาพบกันนะคะ  สอบถามรายละเอียดได้ที่ E-mail:[email protected]   Tel.: 061-8428778 / 023-431500 Line ID: ThaiHealthExhibition

Shares:
QR Code :
QR Code