“ข่วงกำกึ๊ด” ลานระดมสมอง
ทางรอดของทรัพยากรชุมชน
ผลจากการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ส่งผลให้ชาวบ้านกว่าร้อยละ 30 ในตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ประสบปัญหาสารพิษตกค้างในร่างกาย ในบางรายร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง และได้กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรในพื้นที่มากที่สุด
อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการใช้สารเคมีก็คือสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็ยิ่งเสื่อมโทรมลง องค์การบริหารส่วนตำบลส้าน จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงสา และสถานีอนามัยตำบลส้าน จัดทำโครงการ “ข่วงกำกึ๊ด” วิถีทางเลือกด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมา
เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความน่าอยู่ เป็นสังคมที่มีจิตใจดีงามมีความเอื้ออาทร ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายประยูร อินต๊ะวิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลส้าน ประธานโครงการข่วงกำกึ๊ดฯ เปิดเผยว่า ประชากรตำบลส้าน มีอาชีพทำการเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด และรับปลูกเมล็ดพันธุ์พืช โดยอาศัยน้ำจาก “ลำห้วยร่องเป้า” มาใช้ในภาคการเกษตรและใช้อุปโภคและบริโภคในครัวเรือน
ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงในชุมชนพบว่า ตั้งแต่ปี 2539 ได้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำขาดแคลน สารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำ ทำให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตได้อย่างยากลำบาก ชาวบ้านจึงเริ่มตื่นตัวที่จะค้นหาต้นตอของปัญหา เริ่มจากการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันในวงเล็กๆ เริ่มขยายขึ้นเป็นวงใหญ่ ทาง อบต. จึงได้จัดเวทีการประชุมประชาคมหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2549 เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้ร่วมเล่า และรับฟังปัญหาในทุกแง่มุมของสมาชิกแต่ละคน
“ปัญหาที่คนในชุมชนเห็นว่าควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ คือปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ทำให้ได้ผลผลิตน้อย รายได้ของครอบครัวไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เมื่อทุกคนเกิดความตระหนักและเข้าใจในปัญหา ก็เป็นเรื่องง่ายในการระดมความคิดหาวิธีแก้ไข ซึ่งจะทำให้การคลี่คลายปัญหาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ
โดยทาง อบต. ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเวทีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน เป็น “ข่วงกำกึ๊ด” ซึ่งคำว่า “ข่วง” เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ลาน ส่วนคำว่า “กำกึ๊ด” แปลว่า ความคิด เมื่อรวมกันจึงหมายถึงลานความคิด ที่เป็นศูนย์รวมความฝันร่วมกันของคนที่อยากให้สังคมมีแต่สิ่งดีงาม ซึ่งจะทำให้สมาชิกในชุมชนรู้สึกว่าควรมีส่วนร่วมแก้ไขโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นปัญหาของใคร” นายประยูรกล่าว
ลานข่วงกำกึ๊ดตั้งอยู่ใน “วัดนาส้าน” ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านนิยมทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะประเพณีงานบุญงานกุศลต่างๆ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงสา และสถานีอนามัยตำบลส้าน จะนัดหมายชาวบ้านมาร่วมกันนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นประจำทุกเดือน
น.ส.บุศราภรณ์ สมบัติปัน เจ้าหน้าที่นโยบายและแผน อบต.ส้าน เลขานุการโครงการข่วงกำกึ๊ดฯ เปิดเผยว่า ปัญหาหลักที่ชุมชนให้ความสนใจ คือ การขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับภาคการเกษตร โดยเมื่อร่วมกันคิดหาวิธีแก้ไข ก็ได้คำตอบที่เกิดจากประชามติ คือ ต้องทำให้ลำห้วยร่องเป้าซึ่งแห้งขอดทุกฤดูแล้ง สามารถเก็บกักน้ำฝนได้ จึงเกิดแนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นมา
“ชาวบ้านได้ช่วยกันออกแบบฝายชะลอน้ำหลายรูปแบบ ซึ่งได้บทสรุปว่าควรสร้างฝายให้คงทนถาวร โดยสร้างจากคอนกรีตแบบขุดลึกลงลำห้วยกันการกัดเซาะของน้ำจำนวน 12 ลูก ซึ่งปรากฏว่าสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทุกฤดู ชาวบ้านสามารถเลี้ยงปลาในกระชังได้ ริมลำห้วยสามารถปลูกพืชได้ ชาวบ้านก็เกิดความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ และร่วมทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมในชุมชนกลับคืนมา” น.ส.บุศราภรณ์ กล่าว
เมื่อแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์แล้ว มติของชาวบ้านจากเวที “ข่วงกำกึ๊ด” ที่ดำเนินงานต่อไปคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติ โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในภาคการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง
รวมถึงรณรงค์ให้มีการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายแก่คนทั้งในและนอกชุมชนได้ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพแบบพึ่งพาตนเอง อันจะทำให้ชาวบ้านสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของชีวิตอีกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update 16-03-52