`ข่วงกำกึ๊ดล้านนา` ทางออกสุขภาวะวิถีชาวเหนือ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ชัดว่าหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน ยังครองแชมป์อัตราดื่มสูงสุดระดับประเทศติดต่อกันมาหลายปี มิพักต้องเอ่ยถึงอัตรานักสูบเยาวชนและผู้หญิงที่กำลังเพิ่มสถิติสูงขึ้น ตามมาด้วยปัญหาอุบัติเหตุก็ยังมีสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีอัตราเพิ่มสูงในทุกๆ ปีเช่นกัน
สถิติเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าสถานการณ์สุขภาพคนล้านนาเข้าขั้น "วิกฤต"
แต่ในวันที่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่กำลังกลายเป็นพื้นที่สีแดงด้านสุขภาพ ได้ถูกพลังความห่วงใยของพี่น้องชาวล้านนาที่ห่วงใย ในปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่แนวทางการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างเป็นกระบวนการผ่านเวทีความคิดที่ขับเคลื่อนโดยคนในพื้นที่ ภายใต้ชื่อ "ข่วงกำกึ๊ดล้านนา" เป็นเรื่องต้องยอมรับว่า "เหล้า บุหรี่" เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอันดับต้นๆ พื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา ที่เคยมีสัดส่วนของผู้ดื่มสุราสูงสุดในประเทศไทย
แต่จากการทำงานของเครือข่าย "ข่วงกำกึ๊ด ล้านนา" จึงเปรียบเสมือนลานวิถีสุขภาพทางเลือกใหม่ของคนเมือง (เหนือ) ที่มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งหวังจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาสุขภาพท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ธงชัย ยงยืน หัวหน้าศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคเหนือตอนบน เผยว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยง และมีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศติดต่อกันมาหลายปี ขณะเดียวกันก็พบว่าเยาวชนและ ผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้น ตลอดจนอุบัติเหตุก็มีอัตราเพิ่มสูงในทุกๆ ปีเช่นกัน
ธงชัย กล่าวต่อว่า ในเวทีข่วงกำกึ๊ดล้านนา เป็นการรวมตัวของคนทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ ในส่วนของประเด็นการจัดการปัจจัยเสี่ยง มีการนำเสนอประเด็นเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การผลักดันให้เกิดเวทีบูรณาการ โชว์ แชร์ เชื่อม ระดับจังหวัด 2.หนุนให้มีมาตรการชุมชนเข้มแข็ง 3.หนุนธรรมนูญสุขภาพประเด็นปัจจัยเสี่ยงงานบุญประเพณี 4.สอดแทรกประเด็นคานงัดของจังหวัด เช่น ลดเหล้า-บุหรี่ และ 5.สนับสนุนจัดตั้งกองทุน หรือโครงการที่เกี่ยวของกับเหล้าบุหรี่ โดยเชื่อว่าการทำงานที่เข้มข้นของภาคีเครือข่ายจะทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จริงแน่นอน
"ถ้าคน 1 คนเลิกเหล้า-บุหรี่ได้ สิ่งที่ได้กลับมานอกเหนือสุขภาพที่แข็งแรงก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตนเอง และคนในครอบครัว สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ปัจจัยเสี่ยง 2 อย่างนี้ ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะได้อย่างมากมาย"
ล่าสุดในเวทีการเสวนาหัวข้อ การจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้งาน "สานงาน เสริมพลัง ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือ ตอนบน : ข่วงกำกึ๊ดล้านนา" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แกนนำภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดภาคเหนือตอนบน กว่า 25 ภาคี ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานสร้างเสริมสุขภาพระดับภูมิภาคเพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวในงานนี้ว่า
"การจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร สิ่งแวดล้อม สังคม ดังนั้น หากเราสามารถจัดการปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ได้ การผลักดันงานสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก"
ซึ่งในงานยังทำให้พบข้อสรุปขั้นตอนการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ภาคเหนือ เน้น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ 2.การเฝ้าระวัง สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยระดับจังหวัดได้มีการจัดตั้งคณะกรรมเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรงอยู่ 3.การรณรงค์งานบุญประเพณีปลอดเหล้า และ 4. สนับสนุนกลุ่มเยาวชนให้มีพื้นที่แสดงออก เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ จากการทำงานที่เข้มแข็งทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย เช่น จังหวัดพะเยาจากที่เคยมีผู้ดื่มสุราสูงที่สุดอันดับ 1 ในประเทศไทย ลดลงไปอยู่ในอันดับที่ 25 ของประเทศ มีงานศพปลอดเหล้ากว่า 84% ขณะที่จำนวนโรงกลั่นสุราในจังหวัดลดลง 32% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ จากที่เคยพบว่ามีคนเสียชีวิตเพราะดื่มสุราช่วงสงกรานต์คูเมืองเชียงใหม่ทุกปี เมื่อเกิดการผลักดันสงกรานต์ปลอดเหล้าก็ไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นอีก ซึ่งนี่เป็นเพียงผลส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างเข้มแข็งเท่านั้น
ด้าน ภัทรธิดา สมรักษ์ เครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดแพร่ เผยถึงการทำงานว่า การเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติให้คนเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้ เป็นงานที่ท้าทายมาก แต่เมื่อทำได้ก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ยิ่งเมื่ออยู่ในพื้นที่ ที่มีปัญหาเหล้าบุหรี่เป็นอันดับต้นๆ ของ ประเทศ ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ต้องทำงานอย่างจริงจัง
พร้อมกล่าวต่อว่า ส่วนสำคัญของการทำประเด็นเหล้าบุหรี่คือ การลงพื้นที่ เพราะทำให้ได้เห็นสถานการณ์จริงเมื่อเห็นความจริงก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ทั้งนี้ จังหวัดแพร่มีแนวทางการทำงานเน้นที่เยาวชน เพราะเชื่อว่าเยาวชนมีศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนได้แสดงออก แล้วนำพวกเขาเหล่านั้นไปเชื่อมโยงกับคนในชุมชนโดยใช้ศิลปะวัฒนธรรม เช่น การจัดกิจกรรม "ซอเรื่องเหล้า" ในช่วงเข้าพรรษา เป็นการนำเครื่องดนตรีไทยมาประยุกต์กับการเล่าเรื่องราวรณรงค์เลิกเหล้า ได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก
ภัทรธิดา ย้ำว่า การทำงานเรื่องเหล้าบุหรี่ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
"เคยมีคนถามว่าทำไปทำไม ทำแล้วมันจะเปลี่ยนได้จริงหรือ คำตอบคือ ไม่มีอะไรเปลี่ยนหากเราไม่ลงมือ" เธอเอ่ยย้ำซึ่งผลจากการทำงานอย่างหนักของภัทริดาและเพื่อนร่วมเครือข่ายทุกคน ทำให้ปัจจุบันอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ จังหวัดแพร่ลดลงจากที่เคยอยู่ในอันดับ 1 ขยับมาเป็นอันดับ 9 แล้ว และได้กลายมาเป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดในวันนี้
"สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของเราไม่ได้สูญเปล่า และยังคงต้องเดินหน้าต่อไป" ภัทริดาเอ่ยด้วยความดีใจพร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า
"อยากฝากทุกคน สำหรับใกล้ช่วงวันเข้าพรรษานี้ อยากเชิญชวนให้มาร่วมกันเลิกเหล้าตลอดช่วงเข้าพรรษา หรืองดจนครบพรรษา นอกจากจะเป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นโอกาสเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ในชีวิตได้อีกมากมาย"