‘ขามสะแกแสง’ โมเดลผู้สูงอายุเข้มแข็ง
การสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุเป็นแนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการพัฒนางานผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา หลายๆ กิจกรรมที่จัดทำขึ้น ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขให้กับผู้สูงอายุ ตั้งแต่กิจกรรมง่ายๆ เพื่อสร้างรายได้ ไปจนถึงการทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความบันเทิง
ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอขามสะแกแสง ทำให้ตำบลขามสะแกแสงครอบคลุมถึง 11 หมู่บ้าน ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่มากกว่า 1,000 คน ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลขามสะแกแสง (อบต.ขามสะแกแสง) แห่งนี้
นางดอกไม้ พากลาง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามสะแกแสง บอกว่า การดำเนินงานผู้สูงอายุได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ภายหลังเมื่อได้เดินทางไปดูงานการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ จึงได้เกิดแนวคิดในการนำมาปรับใช้เพื่อดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์พัฒนาสังคมและความมั่นคงในมนุษย์ ศูนย์ประชาสงเคราะห์ และงบประมาณของ อบต.เองส่วนหนึ่ง ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง งานด้านผู้สูงอายุจึงมีความคืบหน้าอย่างมาก ส่งผลให้ อบต.ขามสะแกแสงเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องงานด้านผู้สูงอายุนี้
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่เกษียณจากการทำงานแล้ว ส่วนใหญ่จะมีเวลาว่าง อยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่ได้งานทำ ไม่มีรายได้ จึงต้องรอคอยเงินที่ลูกหลานให้มาเท่านั้น บางคนจึงรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า อยู่ไปวันๆ บางครั้งเกิดภาวะซึมเศร้า ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ในการคิดงานด้านผู้สูงอายุที่นี่
เบื้องต้นจึงเน้นไปที่สร้างการรวมกลุ่ม พยายามดึงให้ผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้ออกมามีส่วนร่วมและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้สูงอายุด้วยกัน เพื่อที่จะได้มีการพูดคุย ผ่อนคลาย โดยกิจกรรมที่เลือกจัดทำนี้ จะเป็นรูปแบบง่ายๆ เหมาะสมกับอายุที่มากขึ้น อย่างการออกกำลังกายด้วยไม้พลอง
นอกจากผู้สูงอายุที่เข้าร่วมจะรู้สึกสนุกแล้ว ยังได้ยืดเส้นยืดสาย เป็นการเสริมสร้างสุขภาพไปในตัว การร่วมฟังธรรมะเพื่อให้จิตใจผ่อมแผ่ว การจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ทำให้ผู้สูอายุตะหนักต่อคุณค่าของตนเอง รวมถึงการประกวดสุขภาพผู้สูงอายุ หากใครสุขภาพแข็งแรง ไม่มีเบาหวาน ความดัน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ก็ให้เป็นผู้ชนะประกวดไป
กิจกรรมที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่สนใจส่วนหนึ่ง ถึงค่าตอบแทนที่ได้รับจะไม่มากมาย แต่ก็ช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้สูงอายุได้ ทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นงานง่ายๆ ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น อย่าง การทำดอกไม้จัน การทำไม้กวาดทางมะพร้าว และการสานท่อเสื่อ เป็นต้น
ในส่วนของดอกไม้จันเป็นกิจกรรมที่ได้จากการดูงานในพื้นที่อื่น แล้วนำมาหัดให้กับผู้สูงอายุในภายหลัง ตอนแรกๆ ดอกไม้จันที่ได้ไม่ค่อยสวย แต่เมื่อค่อยฝึกค่อยหัดทำให้ดอกไม้จันที่ได้สวยขึ้นและนำไปขายได้
“รายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากิจกรรมเสริมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุข เพิ่มเติมรายได้เบื้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500บาท ที่เป็นนโยบายรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นเงินไม่มาก แต่ก็ช่วยผู้สูงอายุได้มาก ทำให้มีเงินที่จะไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งทาง อบต.ขามสะแกแสงได้ดูแลเรื่องเบี้ยยังชีพนี้อย่างดี ทำให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเป็นประจำทุกเดือนไม่ขาด” นายกอบต.ขามสะแกแสง กล่าว
ไม่เพียงแต่กิจกรรมข้างต้น นางดอกไม้ บอกต่อว่า จากงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ทำให้มีการจัดทัวร์เพื่อพาผู้สูงอายุไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างการจัดฟังธรรมะนอกสถานที่ ผู้สูงอายุจากเดิมที่เหงาอยู่บ้าน ต่างรู้สึกชอบใจ เพราะเหมือนกับได้ไปเที่ยว ได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศ ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
กิจกรรมผู้สูงอายุข้างตนนี้ เป็นกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง มีสุขภาพดีพอที่จะเข้าร่วมได้ แต่ในส่วนของผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพต้องนอนติดเตียงอยู่กับบ้าน เดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้นั้น
นางดอกไม้ กล่าวว่า อบต.ขามสะแกแสงคำนึงถึงผู้สูงอายุกลุ่มนี้เช่นกัน แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก เฉลี่ยแล้วมีหมู่บ้านละ 1-2 คนเท่านั้น นอกจากจะมีแพทย์และพยาบาลที่ช่วยดูแลอาการแล้ว ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งภายหลังได้แยกกลุ่มเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า อผส.ค่อยติดตามดูแลเยี่ยมบ้านและให้กำลังใจที่เป็นงานจิตอาสา โดยจะมีการอบรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุเฉพาะ จากเดิมที่มีจำนวนเพียงแค่ 10 คน แต่ขณะนี้ขยายไปถึงเกือบ 30 คนแล้ว
จุดเด่นของการทำงานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ขามสะแกแสงจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ จะไม่เน้นการมอบเงินหรือให้ของช่วยเหลือ เพราะนอกจากจะเป็นภาระงบประมาณในระยะยาวแล้ว ยังอาจส่งผลต่อตัวผู้สูงอายุ ญาติ และตัวอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุเอง เพราะจะทำให้เกิดความคาดหวังว่า
ทุกครั้งที่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุมาเยี่ยมหรือดูแลจะต้องมีของมาให้ทุกครั้ง เกิดการรอคอยของเหล่านั้นด้วยความเคยชิน ขณะเดียวกันก็สร้างความกดดันให้กับอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะรู้สึกไม่ดีหากไม่มีของมอบให้ และจะเลิกทำงานนี้ไปในที่สุด ซึ่งงานดูแลผู้สูงอายุถือเป็นงานระยะยาวและต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่า ควรตัดในเรื่องการมอบสิ่งของเหล่านี้ออกไป ยกเว้นกรณีที่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุมีน้ำใจที่อยากจะมอบให้เอง ซึ่งส่วนมากเป็นแค่ขอเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
“สิ่งที่ผู้สูงอายุที่นอนป่วยติดเตียงหรือคนที่เป็นอัมพฤตอัมพาตต้องการคือการคนดูแลและพูดคุย ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีกำลังใจ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ถูกทิ้งให้อยู่บ้าน เพราะลูกหลานต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่มีใครช่วยดูแล การทำงานของอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วย อย่างการเช็ดตัว การดูแลการกินยา เป็นต้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แต่เฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลูกหลานในการดูแลด้วย ขณะเดียวกันอาสาสมัครเองก็รู้สึกภูมใจที่ได้ช่วยเหลือ” นางดอกไม้ กล่าว
งานผู้สูงอายุที่ขามสะแกแสงคงไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ แต่จะต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ และในช่วงปลายปี 2555 นี้ จะเริ่มโครงการกองทุนสำหรับผู้สูงอายุ โดยเริ่มเก็บเงินออมวันละ 1 บาท พร้อมกันนี้จะมีงบ อบต.ส่วนหนึ่งในการสนับสนุน โดยเงินที่รวบรวมได้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุเองอีกด้วย