ขับเคลื่อน 500 โรงเรียนลดโรคอาหารเป็นพิษ
สำนักงานสาธารณสุข ขับเคลื่อนการดำเนินงานอาหารปลอดภัย เพื่อลดโรคอาหารเป็นพิษใน 500 โรงเรียน โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ในสถานศึกษา ปลูกฝังพฤติกรรมและทักษะชีวิตในการป้องกันโรค
นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551-2558 พบว่า ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง มีอัตราป่วยสูงสุดต่อเนื่อง ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ มีรายงานจำนวนป่วยทั่วประเทศปีละ1.2–1.3 แสนรายต่อปี และพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และติดอันดับเป็นพื้นที่เสี่ยง 3 ใน 5 อันดับแรกของประเทศไทย
โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือท็อกซินของ เชื้อโรค ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารร่วมกัน และมีอาการหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคดังกล่าวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ 133,946 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเหตุการณ์ระบาด 99 เหตุการณ์
ในจำนวนนี้เกิดการระบาดกับในโรงเรียนและค่ายทัศนศึกษา 54 เหตุการณ์ ปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 ก.ค. พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 70,994 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยสูงสุดคือ 170.71 ต่อประชากรแสนคน สำหรับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 40,000-50,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในสถานศึกษา ค่ายทัศนศึกษา งานบุญ งานประเพณีต่างๆ และส่วนใหญ่เกิดจากอาหารที่จำหน่ายในโรงเรียน และอาหารที่รับประทานในการเข้าค่ายที่มีการเก็บรักษานาน ซึ่งการจัดการอาหารปลอดภัยเป็นการป้องกันควบคุมโรครวมทั้งเป็นการสนับสนุน การท่องเที่ยว เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย
สำหรับกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญเพื่อลดโรคอาหารเป็นพิษ โดยสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดอีสานตอนบน ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอาหารปลอดภัย เพื่อลดโรคอาหารเป็นพิษใน 500 โรงเรียน โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ในสถานศึกษา ปลูกฝังพฤติกรรมและทักษะชีวิตในการป้องกันโรค การป้องกันอันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีพิษแก่เด็กและครอบครัว
ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 ให้ความสำคัญกับการสื่อสารความเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพทุกกลุ่ม เสี่ยงทั้งสถานศึกษา ชุมชน และตลาดสด พร้อมทั้งสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากส่วนอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และให้อาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที และไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น ถ้ามีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้ บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต