ขับเคลื่อนหลักสูตรเพศศึกษาสร้างภูมิคุ้มกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจาก สยามรัฐ
สสจ.โคราช ระดมสมองครู อบจ.ขับเคลื่อนหลักสูตรเพศศึกษาสร้างภูมิคุ้มกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมวางแผนงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการใช้ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และเครือข่ายการทำงานภาคประชาสังคม โดยมีผู้บริหารโรงเรียนมัธยมในสังกัด อบจ.นครราชสีมา จำนวน 58 แห่ง และบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 120 คน รับฟังนายศิวะยุทธ สิงห์ปรุ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะผู้ประสานงานโครงการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ชี้แจงให้ความรู้การจัดการเรียนรู้การสอนเพศศึกษาหรือเพศวิถีพร้อมระดมสมองวางแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและระบบดูแลช่วยเหลือตามหลักวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ ฯ นายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด โดยเฉพาะวัยรุ่นช่วงย่างเข้าสู่วัยรุ่นที่มีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะโลกโซเชียลที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ครอบครัวและโรงเรียนต้องให้การดูแลและความรู้กับเด็กวัยรุ่นให้มากๆ ตนได้กำชับให้ผู้บริหารและครูผู้สอนโรงเรียนมัธยมศึกษา 58 แห่ง ซึ่งมีจำนวนนักเรียนร่วม 3 หมื่นคน ปรับเปลี่ยนบริบทและยอมรับสภาพความเป็นจริงกับปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนและเพศทางเลือกทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิง อย่าปิดบังและกีดกัน ต้องช่วยกันขับเคลื่อนการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องรวมทั้งให้กลับมาเรียนต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับ
นายศิวะยุทธ ฯ ผู้ประสานงานโครงการ ฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการในรูปแบบคณะอนุกรรมการ โดยมีชุมชน องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถานศึกษาในท้องถิ่นร่วมคิดร่วมวางแผนและสนับสนุนทรัพยากรที่มีความจำเป็นให้เกิดการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ เพศศึกษาอย่างเปิดเผย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิตในการคิดไตร่ตรองสามารถเผชิญปัญหาความจริงที่ปรากฏในโลกโซเซียล อย่างมีสติและเลือกทางที่เหมาะสม รวมทั้งจัดทำระบบช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข ด้านสังคมควบคู่ สิ่งที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้บางรายเป็นผู้ผลิตสื่อลามกไม่ใช่เสพสื่ออย่างเดียว ดังนั้นครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดซึ่งมีส่วนสำคัญ ต้องดูแลให้คำแนะนำ กำลังใจ โดยเฉพาะประชากรบางกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ในการป้องกันปัญหาได้ยาก เช่น กลุ่มที่มีอายุน้อยแต่ตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์เร็วและเข้าสู่การใช้ชีวิตครอบครัวเร็วเกินไป บุคคลที่ไม่พร้อมเข้าสู่บทบาทการเป็นพ่อ แม่ ,กลุ่มที่อพยพจากต่างถิ่นและกลุ่มไม่เข้าถึงภาคการศึกษา จึงได้ปรับแนวทางเชิงรุกให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด