ขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัย สู่สุขภาวะดียั่งยืน
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
สสส.โชว์ผลงาน 15 ปีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สานพลังภาคี ขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน สร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
ระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable food system) เป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเกษตรและระบบอาหาร ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อยุติความหิวโหย และบรรลุความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการภายในปี 2573 โดยที่ระบบอาหารจะต้องครอบคลุมทุกองค์ประกอบและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การกระจาย การเตรียม และการบริโภค
สอดคล้องกับการทำงานแผนอาหารเพื่อสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ไม่ได้มองเพียงอาหารคือปลายทางของการกิน 1 คำ เคี้ยวเข้าปาก แต่ให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่แหล่งผลิตไปจนถึงการเลือกกินให้ถูกต้อง เมื่อกินแล้ว จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร
จากการทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เป็นระยะเวลาถึง 15 ปี ใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผนอาหารไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมประจำปีแผนอาหารเป็นครั้งแรก เพื่อประมวลผลและความคืบหน้าจากการดำเนินงานภายใต้กระบวนการต่างๆ ทั้งในเชิงนโยบายและการลงพื้นที่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี และทางแอพพลิเคชั่นซูม
ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 อธิบายถึงการขับเคลื่อนประเด็นอาหารเพื่อสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม ได้แก่ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม มีการพัฒนาต้นแบบการจัดการด้านอาหารในระดับพื้นที่ การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การสร้างช่องทางจำหน่ายผลผลิตที่ปลอดภัยในรูปแบบตลาดสีเขียว เป็นต้น
สำหรับสาระเข้มข้นจากรายงานผลสรุปโดยเหล่าวิทยากรที่บางท่านก็พบเจอปัญหาอุปสรรค และมีทั้งประสบความสำเร็จ มาร่วมกันพูดคุยทุกแง่มุม รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อแชร์ความคิดเห็น ทั้งในรูปแบบของวงอภิปรายหลากหลายประเด็น เริ่มจากเวทีแรกกับการขับเคลื่อนงานแผนอาหารเพื่อสุขภาวะใน 3 กลุ่มงาน นำโดย สุภา ใยเมือง กรรมการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ภาคีกลุ่มงานความมั่นคงทางอาหาร, ศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาคีกลุ่มงานโภชนาการ รายงานถึงภาวะที่ต้องเผชิญในสถานการณ์โควิด, รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ กรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. พูดคุยถึงการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยผ่านมาตรการกำกับดูแลโรงคัดและบรรจุ และ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (THAI-PAN) กับผลกระทบของโควิดที่มีต่อความปลอดภัยของพืชผักผลไม้ โดยเวทีนี้มี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. ร่วมอภิปรายและดำเนินรายการ
จากนั้นเป็นวงอภิปรายงานนวัตกรรมอาหารกับเด็กและเยาวชนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชนเพื่อสุขภาวะที่ดีฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน, โครงการเด็กไทยแก้มใส โครงการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก, ทีมกระบวนการชุมชนน้อมเกล้า กทม. ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีการวางแผนการทำงานแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงความสำคัญของอาหารกับการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคตว่า ที่ผ่านมา งานด้านแผนอาหารของ สสส. ถูกบ่งชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญของสังคมไทยที่จะเอื้อต่อการมีสุขภาพดี จนถึงปัจจุบันมีการเห็นพ้องต้องกันว่า ใน 3 กลุ่มงานนั้น แผนงานต่างๆ เวลานี้มีมารองรับแล้ว แต่โจทย์ที่ยังมีความสำคัญก็คือเรื่องของการกินผักและผลไม้ เนื่องจากคนไทยเกินกว่าร้อยละ 60 กินผักผลไม้ในปริมาณน้อย และมีแนวโน้มเข้าถึงอาหารแปรรูปต่างๆ ได้ง่าย เพราะซื้อได้สะดวก ราคาไม่แพง
"การจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยจึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่มีความท้าทายและจำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ขับเคลื่อนทั้งระบบอาหารตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจำหน่าย ไปจนถึงการปรุงประกอบอาหารและการบริโภค เพื่อเอื้อให้ประชากรสามารถเข้าถึงผักผลไม้และอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพได้มากขึ้น"
การจัดประชุมประจำปีแผนอาหารได้ฉายภาพถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอาหารว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร รวมถึงรายงานสิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแต่ละในพื้นที่ที่เกิดขึ้นกับความร่วมมือทั้งทางภาคีเครือข่ายแผนอาหาร ทางด้านนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จากการร่วมดำเนินการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพลเมืองอาหาร (Food Citizenship) ชุมชนอาหาร (Food Citizen) และความยั่งยืนของระบบอาหารของประเทศไทยในที่สุด