ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเยาว์
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. มุ่งเป้าหมาย SDGs ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน พบอุบัติเหตุทางถนนคร่าเด็ก-วัยทำงาน ปีละกว่า 2 หมื่นคน เร่งขับเคลื่อนท้องถิ่น-ชุมชนต้นแบบ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันเด็ก-เยาวชน สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเยาว์
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” ในหัวข้อ “เป้าหมาย SDGs กับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนน” ว่า ขณะนี้ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ คือ มีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 20% และมีผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 14% อัตราการเกิดเหลือปีละ 540,000 คนต่อปี ในขณะที่อุบัติเหตุทางถนนคร่าเด็ก และวัยทำงาน ปีละกว่า 20,000 คน โดยเป็นผู้ชายถึง 85% นอกจากนี้มีผู้ที่พิการจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 13,000 คน สังคมไทยในอนาคต จึงอยู่ในสภาวะอันตราย หากไม่สามารถรักษาชีวิต ลดความพิการจากอุบัติเหตุทางถนนได้
“เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรอง ในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันกับสมัชชาสหประชาชาติ คือความพยายามที่จะลดการเสียชีวิต และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร ตามเป้าหมาย SDGs ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า และลดลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2573 นั้น เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สังคมไทยทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำให้สำเร็จให้ได้ สสส. ได้สนับสนุนให้ชุมชน ตำบล ท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนชุมชนปลอดภัยต้นแบบ สร้างแกนนำความปลอดภัยในชุมชน สำรวจจุดเสี่ยง หาสาเหตุอุบัติเหตุในชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาซับซ้อน ที่เกิดจากค่านิยมความเคยชิน จนกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความไม่ปลอดภัย ความประมาท ดื่มแล้วขับ ขับย้อนศร การไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มนิรภัย จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด การมีบทลงโทษ การระงับใช้ใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืน และการติดตามประเมินผล เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การทำให้เด็กได้เรียนรู้มาตรการความปลอดภัย เสมือนวัคซีนที่ค่อย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่ออุบัติเหตุ ตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ชุมชน โรงเรียน มีส่วนในการสร้างสำนึก และวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยร่วมกัน และสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้