ขับเคลื่อนชุมชนด้วยศิลปะ

         เลาะรั้วเพื่อนบ้านดูงานพื้นที่สร้างสรรค์  นำศิลปะ-ภูมิปัญญาสู่การพัฒนาเยาวชน


/data/content/24899/cms/e_defkoqx12459.jpg


         จากการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านการทำงานด้านศิลปะ วัฒนธรรมกับชุมชนมากว่า 4 ปี ภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง กว่า 40 ชีวิต ผู้ลงมือปักหมุดติดยิ้มบนแผนที่ประเทศไทยในทุกภูมิภาค ได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงานในหัวข้อ “ขับเคลื่อนชุมชนด้วยศิลปะ” ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับการสนับสนุนและประสานความร่วมมือจาก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท ไทยแอร์เอเซีย จำกัด


         วันแรกของการไปเยือนบาหลี ภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านโบนา หมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นเกียนยาร์ เพื่อพบกับ “อี มาเด ซีเดีย” หรือ “มาเด” ศิลปิน นักแสดง และผู้ก่อตั้งคณะการแสดง “ปาริปูอานา โบนา” มาเดเปิดบ้านของตนเองให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้านบาหลี


         ภาพแรกที่ชาวภาคีพื้นที่นี้…ดีจังได้พบเห็นคือ รอยยิ้มของเด็กๆ ชายหญิงในหมู่บ้านโบนากว่า 70 ชีวิต กำลังฝึกรำกันอย่างจริงจังอยู่บริเวณลานบ้านของมาเด จากนั้นเป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมผ่านการแสดงของศิลปินทั้ง 2 ประเทศ


       /data/content/24899/cms/e_bgmoqtxyz467.jpg โดยภาคีพื้นที่นี้…ดีจังได้เตรียมการแสดงหลากหลายชุดจากพื้นที่สร้างสรรค์ของตัวเองมาแลกเปลี่ยนกับชาวบาหลี เช่น หนังบักตื้อ รำมโนราห์ โขน ฯลฯ ขณะที่ฝั่งศิลปินบาหลีก็ไม่น้อยหน้า จัดการแสดงพื้นบ้านอย่างระบำหน้ากากโทเป็ง ระบำเคชัก (ระบำลิงว่าด้วยเรื่องรามเกียรติ์) หุ่นเงาของอินโดนีเซีย หรือวายังกุลิต รวมทั้งได้ลองร่ายรำไปกับนาฏศิลป์ฝั่งไทยด้วย


       “คนบาหลีมีความเชื่อว่า คนเรามีชีวิตอยู่เพื่อ 3 สิ่ง คือ เพื่อศรัทธาในเทพเจ้า เพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สามสิ่งนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนบาหลี” อี มาเด ซีเดีย อธิบายความคิดความเชื่อที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบาหลี


      หลังจากวันแรกผ่านไป ภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ไปเรียนรู้แง่มุมชีวิตของศิลปินในการทำงานศิลปะกับชุมชน โดยนัดหมายแรกเริ่มตั้งแต่ 06.00 น. ที่ Art Center นครเดนปาซาร์ เพื่อชมการซ้อมของคณะนักแสดงรุ่นหนุ่มสาวกว่า 100 ชีวิต ในชุด Rama Sita Prana Bhuana ซึ่งเป็นการแสดงในพิธีเปิดงาน Bali Art Festival ครั้งที่ 36 


       ภาคบ่ายได้เข้าชมการแสดงในโรงละคร Bali Agung ที่ Bali Safari and Marine Park ซึ่งมาเดรับหน้าที่กำกับการแสดงอันมโหฬารตระการตา ช่วงค่ำของอีกวันหนึ่ง มาเดเชิญชวนชาวภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง เที่ยวงานวัดในหมู่บ้านโบนาของเขา เนื่องจากเป็นเทศกาลพระจันทร์เต็มดวง ทั่วเกาะบาหลีจะมีการทำบุญทุกวัด ผู้คนเนืองแน่น คณะนักแสดงจากบ้านมาเดได้ร่วมแสดงทั้งดนตรีและการร่ายรำหลากหลายชุด


      “นอกจากการไปเยือนบ้านของศิลปิน ที่มีโอกาสได้ไปเรียนรู้อย่างใกล้ชิดถึงครอบครัวที่มีการสืบทอดส่งต่อจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลูกแล้ว เรายังได้สัมผัสกับบรรยากาศศิลปะกับชุมชน ชาวบ้านชื่นชอบในศิลปะ ส่วนศิลปินก็ตั้งใจจริงในการนำศิลปะกลับไปรับใช้ชุมชน โดยไม่คิดถึงเรื่องเงินทอง ค่าตอบแทน เขาต้องการไปช่วยชุมชนจริงๆ และไปแสดงเพื่อถวายแด่เทพเจ้า สิ่งที่เขาได้รับคือความสุข ความงดงาม ความเกื้อกูลกันและกัน ชุมชนก็เกื้อกูลศิลปิน พวกเราได้เห็นการพึ่งพากันและกัน โอบอุ้มกัน เดินไปด้วยกัน” เจริญพงศ์ ชูเลิศ ผู้ริเริ่มโครงการหนังบักตื้อ และปั่นปันสีเขียว ดีอีหลีอีสานบ้านเฮา บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ชีวิตศิลปินชาวบาหลี   


       ภาคีพื้นที่นี้…ดีจังกลุ่มที่ 2 เดินทางไปเรียนรู้การดำรงอยู่ของศิลปะในนครอูบุด เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมของเกาะบาหลี ได้พบกับ “โอกา ดาเล็ม” ผู้สืบสานดูแลโรงละครบาเลลุงต่อจากรุ่นพ่อ ศิลปินรุ่นบุกเบิกให้นาฏศิลป์บาหลีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โรงละครบาเลลุงเปิดการแสดง 3 คืนใน 1 สัปดาห์ มีผู้ชมจากทวีปต่างๆ ตั้งใจมาชมการแสดงอันงดงามลึกซึ้งที่นี่ ในเวลากลางวัน โรงละครบาเลลุงยังทำหน้าที่ฝึกสอนดนตรีและการแสดงให้กับเยาวชนที่ตั้งใจเข้ามาเรียนรู้ โอกา ดาเล็ม กล่าวว่า สิ่งที่เขาทำนั้น ทำแล้วมีความสุข จึงไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องตั้งใจ และทำต่อไปอย่าหยุดเท่านั้น


      ศิลปินอีกท่านที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยคือ อี วายัน ซิกา เจ้าของ SiKa Contemporary Art Gallery ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแกลลอรีที่แสดงผลงานศิลปะของเหล่าศิลปินหน้าใหม่ของอูบุด ด้วยความเชื่อว่าใครๆ ก็สร้างสรรค์งานศิลปะได้ ซิกาชวนภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง ลองทำงานศิลปะโดยให้พวกเราระบายสีเครื่องเขย่ารูปไข่    


      นอกจากนี้ เขายังพูดถึงงานศิลปะไว้อย่างน่าสนใจว่า เราสามารถเห็นศิลปะดั้งเดิมแบบบาหลีแท้ๆ ได้ตามถนนหนทาง ตามบ้าน ตามวัด แต่ที่ SiKa Contemporary Art Gallery เราสามารถสัมผัสได้ถึงศิลปะสมัยใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายบาหลี


      “ชุมชนบาหลี” เป็นอีก 1 สิ่งที่ภาคีพื้นที่นี้…ดีจังให้ความสนใจ อยากสัมผัสและเรียนรู้ เดวา บูตู ปีกา ไกด์ชาวบาหลี พาพวกเรามาเยี่ยมบ้านของเขา ชุมชนเล็กๆ ที่ทำให้เราได้มองเห็นวิถีความเชื่อของชาวบาหลีที่มีวัดอยู่ในบ้าน /data/content/24899/cms/e_bcehlnpqruz7.jpgก่อนออกจากบ้าน ชาวบาหลีจะเอาดอกไม้ไปไหว้ขอพรเทพเจ้าทุกวัน ชุมชนบาหลียึดโยงกันไว้ด้วยพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะต้องบริจาคเงินเข้าส่วนกลางเพื่อทำพิธีทางศาสนาในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีการบริจาคไข่ ข้าวสาร และมะพร้าว เพื่อใช้ในพิธีกรรมที่จะจัดร่วมกันด้วย


       ในแต่ละหมู่บ้านจะมีบันจาร์ (คล้ายศาลาประชาคม) ซึ่งเป็นที่ที่ใช้ในการพบปะและประชุมหารือร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนที่พิเศษที่สุดของบันจาร์ เห็นจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวบาหลีที่เรียกว่า “กาเมลัน” ซึ่งผู้คนในหมู่บ้านจะเป็นคนเล่นเครื่องดนตรีเหล่านั้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา


       จากการจัดการชุมชนที่ส่งผลต่อความเป็นบาหลีภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง มีนัดกับบุคคลสำคัญ “ชอกโกดา กเด ปูตราซุกาวาตี” หรือ “คิงชอคโกดา” ลูกชายคนโตของกษัตริย์องค์สุดท้ายของอูบุด ผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางให้เมืองอูบุดเป็นนครแห่งศิลปวัฒนธรรม คิงชอคโกดาบอกว่า อูบุดเป็นเมืองที่เหมาะจะใช้ชีวิตตอนเช้า ที่อูบุดเลยไม่มีผับ บาร์ ที่เปิดดึกๆ แต่ก็เข้าใจวิถีของนักท่องเที่ยวที่อยากใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนด้วย วิธีรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคือ การจัดการแสดงท้องถิ่น เช่น ระบำเคชัก ระบำเลกอง ในจุดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวไปซื้อตั๋วดู คิงชอคโกดาย้ำอย่างหนักแน่นว่า เราต้องกำหนดทิศทางของเรา ชัดเจนในตัวเอง ว่าเราจะเป็นเราอย่างไร


       "ถ้าเราเดินอยู่บนถนนที่เราเลือก สิ่งที่เราทำได้คือระมัดระวัง เราไม่รู้หรอกว่ารถจะชนเราเมื่อไหร่ แต่เราก็ต้องเดินต่อไปอย่างหนักแน่นและระมัดระวัง"


      “ตั้งแต่เหยียบย่างในดินแดนบาหลี เหมือนได้เข้าสู่โลกอีกใบที่งดงาม เรียบง่าย มีศิลปวัฒนธรรมแทรกอยู่ในทุกที่ นับเป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนในบาหลี โดยเฉพาะคิงชอคโกดา ผู้เชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเมืองอูบุดให้กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง ด้วยพลังแห่งศิลปวัฒนธรรมบาหลี และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นพื้นที่แสดงออกทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ให้งานศิลปะเป็นวิถีของชุมชน ด้วยความเชื่อว่าพลังของงานศิลปะจะสามารถขับเคลื่อนชุมชนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความสุขได้” เตือนใจ สิทธิบุรี จากโครงการพัทลุงยิ้ม กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับหลังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของการขับเคลื่อนเมืองด้วยศิลปะ


       ปิดท้ายการเยือนบาหลีด้วยการเข้าร่วมงาน Bali Art Festival ครั้งที่ 36 หรือเทศกาลศิลปะบาหลี ถือเป็นงานประเพณีประจำปีของชาวบาหลีที่จะแสดงออก ถ่ายทอด รวมถึงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เราได้เห็นศิลปินจากหลายชุมชนในบาหลี รวมถึงผู้คนทุกเพศ ทุกวัย มารวมตัวกันอยู่ในขบวนพาเหรดที่ยิ่งใหญ่ และกินระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร บ่งบอกถึงความร่วมมือและใส่ใจในศิลปะพื้นบ้านของตัวเอง ทั้งบรรยากาศในพิธีเปิดงานที่อบอุ่นไปด้วยชาวบาหลีที่หลั่งไหลกันมาจับจองที่นั่งภายใน Art Center ตั้งแต่ช่วงเย็น เพื่อรอชมการแสดง Rama Sita Prana /data/content/24899/cms/e_egkmpsvy2356.jpgBhuana หรือมหากาพย์รามายณะ และภาพชาวบาหลีอีกหลายพันคนที่ส่งเสียงเชียร์การประชันวงกาเมลัน


      “ในบาหลีมีพื้นที่ให้ศิลปะและวัฒนธรรมได้เข้าถึงผู้คนในชีวิตประจำวัน ผู้คนเสพศิลปะจนเป็นวิถีชีวิต เป็นสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ของชุมชนเด็กๆ จึงซึมซับตลอดเวลา อีกทั้งฝ่ายนโยบายที่ดูแลเรื่องการพัฒนาเมือง พัฒนาการศึกษา มีจุดยืนชัดเจนที่จะรักษาวิถีเหล่านี้ไว้ แม้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกบ้าง ก็ยังสามารถรักษาแนวคิดที่เป็นแก่นไว้ได้อย่างแข็งแรง นี่คือรูปธรรมหนึ่งของเมืองสื่อสร้างสรรค์ เมืองที่มีสื่อดีพื้นที่ดีและภูมิดี” เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวสรุป


      9 วันในบาหลีทำให้ภาคีพื้นที่นี้…ดีจังได้สัมผัสและมองเห็นภาพการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ ทั้งในระดับศิลปินและครอบครัว ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในระดับชุมชน ที่ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมร้อยผู้คนถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่เยาวชน ใช้การร่ายรำในการบูชาเทพเจ้า ทั้งในระดับเมืองและสังคม สะท้อนผ่านความหนักแน่นในการยึดศิลปวัฒนธรรมของตัวเองเป็นทิศทางในการจัดการเมืองท่ามกลางการไหลบ่าของธุรกิจการท่องเที่ยว


       หน้าที่ต่อไปของชาวภาคีพื้นที่นี้…ดีจัง คือการนำแรงบันดาลใจที่ได้รับ สิ่งที่ได้สัมผัส เรียนรู้เข้าใจ มาใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยศิลปะ เพื่อเด็กและเยาวชนของประเทศไทยต่อไป.


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code