ขับถ่ายใช้ถุงดำ ลดแพร่เชื้อ

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ขับถ่ายใช้ถุงดำ ลดการแพร่เชื้อ thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมอนามัย” กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน ขับถ่ายในถุงดำ โรยปูนขาว มัดปากถุงให้แน่น เพื่อลดการแพร่เชื้อโรค ส่วนพื้นที่น้ำลด เร่งทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดปัญหาเชื้อราสะสม หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ


นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จังหวัดที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนควรป้องกันตนเอง ให้พ้นจากโรคระบบทางเดินอาหาร คือลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากอุจจาระและขยะด้วยการขับถ่ายในห้องส้วมที่ยังสามารถใช้การได้ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ห้องส้วมได้ ขอให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในถุงดำ ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น หรือถ้าไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้รัดปากถุงให้แน่นแล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัด


ส่วนขยะภายในบ้านให้เก็บรวบรวมใส่ถุงแล้วผูกปากถุงให้แน่น รวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป โดยประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือไม่ถ่ายอุจจาระและทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วง หากจำเป็นต้องนำน้ำท่วมขังมาอุปโภคบริโภคนั้น ก่อนนำน้ำมาใช้ควรตักใส่ภาชนะ ถ้าน้ำขุ่นให้ใช้สารส้มชนิดก้อนกวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัว นำสารส้มออก แล้วกวนน้ำต่อ 1-2 นาที ทิ้งไว้จนตกตะกอน นำน้ำส่วนใสมาเติมคลอรีนน้ำ (หยดทิพย์) หยดลงในน้ำดื่ม โดยใช้หลอดหยดดูดสารละลายหยดทิพย์ แล้วหยดใส่น้ำที่ต้องการฆ่าเชื้อโรคในอัตราส่วนหยดทิพย์ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร


ในกรณีที่สามารถใช้ครัวปรุงประกอบอาหารได้ ก่อนนำน้ำมาดื่มต้องต้มให้เดือดก่อน แต่ในพื้นที่วิกฤติให้ดื่มน้ำบรรจุชวดที่มีฝาปิดสนิท หรือหากต้องการฆ่าเชื้อโรคภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น จาน ชาม หม้อ กระทะ ให้ใช้คลอรีนผง 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำ 1 แก้ว รินเฉพาะส่วนที่ใส ผสมน้ำ 1 ลิตร แช่ภาชนะนาน 2 นาที ก่อนที่จะนำภาชนะเหล่านั้นมาใช้อย่างปลอดภัย


นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ดำเนินการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สารเคมี และชุดทดสอบ กรณีอุทกภัยภาคอีสานแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่จะตามมา โดยจัดส่งคลอรีนชนิดน้ำ (หยดทิพย์) 200 ขวด รองเท้าบู๊ท จำนวน 12 คู่ น้ำยาเติม SI-Medium จำนวน 300 ขวด ถุงมือยาง จำนวน 1,000 ชิ้น น้ำยาเติม อ.31 จำนวน 200 ขวด ชุดตรวจ อ.13 จำนวน 6 ชุด ชุดตรวจ อ.31 จำนวน 6 ชุด เสื้อชูชีพ จำนวน 25 ตัว สุขาเก้าอี้เจาะรู จำนวน 21 ตัว ส้วมกระดาษจาก SCG จำนวน 200 ชิ้น และชุดหมวกและผ้ากันเปื้อน จำนวน 170 ชุด


สำหรับสิ่งของบริจาคที่มี ผู้บริจาคไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ก่อนจะบริโภคควรสังเกตวันหมดอายุ หรือดูสภาพสี กลิ่น และภาชนะบรรจุของน้ำดื่มและอาหารนั้นๆ ก่อนบริโภค โดยในพื้นที่ที่สามารถปรุงประกอบอาหารได้ ก็ควรนำมาอุ่นให้ร้อนหรือผ่านการปรุงสุกเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือเกิดโรคที่เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารและหากยังสามารถใช้น้ำประปาได้ ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการใช้ส้วม


“สำหรับบางจังหวัด ที่สถานการณ์ได้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ประชาชนควรเร่งทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร อาทิ ตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ท ที่ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วงน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล


โดยเริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นประจำ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา ซึ่งการจัดการเชื้อราในบ้านทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด


2) ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง และ 3) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์   เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code