ขับขี่ปลอดภัย ขับเคลื่อนไปกับเรา
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามธุรกิจ
จัดเวทีเสวนา เรื่อง Road Safety : ขับขี่ปลอดภัย ขับเคลื่อนไปกับเรา (Safety Ride Drive Together)
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2562 คณะทำงานโครงการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) สภากาชาดไทย ได้จัดการเสวนา เรื่อง Road Safety : ขับขี่ปลอดภัย ขับเคลื่อนไปกับเรา (Safety Ride Drive Together) ณ ห้องประชุม 1210 โซน B ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ คือ คุณนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด, คุณรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พลตำรวจตรีบุญเลิศ ว่องวัจนะ ผู้บังคับการกองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมูลนิธิเมาไม่ขับ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิฯ โดยมี คุณพรพัฒนา สิงคเสลิต จากกรมประชาสัมพันธ์ เป็นพิธีกรในการเสวนา และยังมีคุณบุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล รองกุลธิดากาชาด จาก Thai PBS เป็นพิธีกรตอนเริ่มต้น ผมจึงขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับ Road Safety หรือความปลอดภัยบนท้องถนน โดยนำข้อมูลของ WHO หรือองค์การอนามัย "Global Status Report on Road Safety 2018" ที่ออกใหม่เอี่ยม มาให้พวกเราได้โปรดกรุณารับทราบและ นำไปใช้ด้วย
IFRC, International Federation of the Red Cross and Red Crescent หรือ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยว วงเดือนแดง ได้พิมพ์ The World Disasters ในปี ค.ศ.1998 ซึ่งมีข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้มีการเสียชีวิต บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก IFRC เป็นองค์การระหว่างประเทศ อันดับต้น ๆ ที่ได้เล็งเห็นอันตรายของอุบัติเหตุบนท้องถนน และผลต่าง ๆ ที่ตามมา และได้เป็นองค์กรอันแรก ๆ ที่ได้ "ตีฆ้องร้องป่าว" ให้ชาวโลกทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในปี ค.ศ.2011 IFRC ได้นำเรื่องนี้ ไปบรรจุไว้ใน "Strategy 2020" ตั้งแต่นั้นจนถึงบัดนี้ อุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นปัญหาอยู่
สหประชาชาติได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ขอให้ IFRC และสมาชิกของ IFRC ซึ่งก็คือกาชาดของประเทศต่าง ๆ 186 ประเทศ (สมัยนั้น) ให้เป็นเครือข่ายที่สำคัญในการร่วมมือกัน แก้ปัญหาเกี่ยวกับ Road Safety IFRC ได้มีแผน "Decade of Action for Road Safety" ในปี ค.ศ. 2010 และในปี 2011 ในการประชุมของ "กาชาดสากล" (19 th IFRC General Assembly และ 31 st International Conference) 186 ประเทศมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับ "Decade of Action etc." และจะร่วมมือกันในเรื่องนี้ ในปี ค.ศ. 1999 IFRC ร่วมกับธนาคารโลก และ Department of International Development ของอังกฤษได้ก่อตั้ง GRSP หรือ Global Road Safety Partnership เพื่อ GRSP เป็นตัวแทนของ IFRC เกี่ยวกับ Road Safety
หลักการของ Decade of Action on Road Safety 2011-2020 คือ มี 5 เสาหลัก 1) มีงบการบริหารจัดการเรื่อง road safety อย่างมีประสิทธิภาพ 2) มีถนนที่ปลอดภัย 3) มีรถที่ปลอดภัย 4) มีคนที่ปลอดภัย 5) การจัดการหลังเกิดอุบัติเหตุ
สหประชาชาติ (UN) ได้มอบหมายให้ WHO เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลเรื่อง Road Safety และ WHO ได้ผลิต "Global Status Report on Road Safety" ออกมาหลายครั้ง เช่น 2013, 2015 และล่าสุด 2018
ในปี ค.ศ.2015 สหประชาชาติได้ประชุมเกี่ยวกับ MDGs หรือ Millennium Development Goals ซึ่งมี 8 เป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศต่าง ๆ ในโลก ตั้งแต่ ค.ศ. 2000-2015 ในปี ค.ศ.2015 UN ได้ประชุมกับประเทศต่าง ๆ ในโลกเกี่ยวกับผลของการจัดการ MDGs พบว่า ได้เข้าถึงเป้าหมายหลายอัน แต่บางอันยังไม่ดีพอในบางประเทศ แต่ประเทศไทยทำได้ตามเป้าหมาย หรือเกิน ในปี ค.ศ.2015 สหประชาชาติและประเทศสมาชิกต่าง ๆ จึงได้ตกลงทำเรื่องนี้ต่อโดยเปลี่ยนเป็น Sustainable Development Goals หรือ SDGs ซึ่งมี goal 17 อัน มีเป้าหมายเป็นร้อย ซึ่งมี SDGs ที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับ Road Safety อันแรกคือ SDG 3.6 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บบนท้องถนนลง 50% ภายใน 2020 (จาก 2015) และ SDG 11.2 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนมีการเข้าถึงรถสาธารณะที่ปลอดภัย ราคาย่อมเยาที่ยั่งยืน โดยให้คำนึงถึงเด็ก ผู้พิการ สตรี และผู้สูงอายุ ส่วน SDG ที่ 9 คือ ทำระบบ Infrastructure ให้ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบขนส่งมวลชน ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้รถยนต์ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน ฯลฯ