ขอนแก่นโมเดล สานพลังสังคมช่วยกลุ่มเปราะบางสู้ภัยโควิด
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
จังหวัดขอนแก่นเป็นหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสาน มีสถาบันการศึกษาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีย่านธุรกิจการค้าที่คึกคักเฟื่องฟูมาช้านาน ขณะเดียวกันก็มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่รอบเมือง มีคนทุกข์ยาก หรือ “คนไร้บ้าน”ที่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าบ้าน ต้องยึดเอาพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักพิง รวมทั้งคนตกงานที่กลายมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ (ปัจจุบันมีประมาณ 120 คน) ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ พวกเขาต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
ป้านงเยาว์ กงภูเวศน์ ประธานชุมชนเหล่านาดี 12 ตั้งอยู่ริมทางรถไฟในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เล่าว่า ชุมชนเหล่านาดี 12 มีทั้งหมด 135 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน เป็นลูกจ้างในตลาด ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด จึงคิดเรื่องทำอาหารขายให้คนในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน ขายในราคาถูก จานละ 15 บาท เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่ ข้าวไข่เจียว และอาหารตามสั่ง เริ่มทำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“เราขาย 15 บาท แต่กินอิ่มเท่ากับคนอื่นขาย 30 บาท คนนอกชุมชนก็มากินได้ ส่วนคนแก่ คนป่วย เราก็ให้กินฟรี คนที่รู้ข่าวก็มาสนับสนุน เอาเงินมาช่วยให้ทำอาหารแจก ส่วนคนที่ตกงานในชุมชน แม่บ้านที่ว่างงาน เราก็ให้มาช่วยกันทำครัว หั่นผัก ช่วยล้างจาน ทำให้มีรายได้วันละ 100-200 บาท แล้วแต่ใครทำน้อย ทำมาก แต่ก็ช่วยให้มีรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัว คนกินก็จะได้กินของถูก ถือว่าช่วยเหลือกันไป” ป้านงเยาว์บอก
จากการจุดประกายของป้านงเยาว์ ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและต่อยอดไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเปราะบางในชุมชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.) สสส. เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน กลุ่ม Hugtown เครือข่ายชุมชนเมืองขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันจัดทำ“โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองเปราะบางเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19” ขึ้นมา
ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือมีหลากหลาย เช่น การทำครัวชุมชน ขายอาหารราคาถูก นำพืชผักที่ปลูกมาแจกจ่ายเพื่อทำอาหาร ลดรายจ่าย เทศบาลนครขอนแก่นจัดตรวจคัดกรองเชื้อโควิดและฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนไร้บ้าน แจกอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็น อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ โครงการคูปองปันกัน ฯลฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“โครงการคูปองปันกัน” สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พมจ.ขอนแก่น และภาคีเครือข่าย ทำโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตจากการตกงาน ขาดรายได้ กลุ่มเป้าหมายในเมืองขอนแก่นประมาณ 300-500 คน ให้มีเงินจับจ่ายซื้ออาหาร โดยจะจัดสรรคูปองอาทิตย์ละ 100 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ เพื่อให้นำไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็น และยังช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนด้วย โดยมีชุมชนเข้าร่วม 11 ชุมชน ร้านอาหาร ร้านค้าเข้าร่วมรับคูปอง รวม 26 ร้าน
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการ “สร้างพื้นที่สะสมอาหาร” ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ในชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาทำอาหาร มีการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน-คนตกงาน ให้ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เช่น เช็ดถูราวสะพานคนเดินข้าม ถางหญ้า ให้ค่าตอบแทนวันละ300 บาท จ้างงานไปแล้วประมาณ 100 คน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณโครงการดังกล่าว 300,000 บาท และ พมจ.ขอนแก่น 360,000 บาท
ศูนย์พักคอยรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชน นอกจากการช่วยเหลือเรื่องปากท้องและอาชีพแล้ว ชุมชนเหล่านาดี 12 ยังร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขอใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟชั่วคราวที่อยู่ใกล้ชุมชนจัดทำศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation) หรือ CI เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชนที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ที่กักตัวดูอาการ ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในชุมชน โดย CI แห่งนี้ใช้ห้องต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของสถานีรถไฟ ปรับปรุงเป็นห้องพักสำหรับผู้ติดเชื้อหรือกักตัวดูอาการ รวมทั้งหมด7 ห้องรองรับได้ 14 คน
ศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ CI มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว และยังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนกับ สปสช. เพื่อรับยาและเวชภัณฑ์ แพทย์และพยาบาลจะดูแลให้คำแนะนำการรักษาตัวผ่านการสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ
เป็น “ขอนแก่นโมเดล” ด้วยการสานพลังสังคมเพื่อช่วยเหลือคนจน คนตกงาน และคนไร้บ้าน สู้ภัยโควิด!!