ของขวัญวันเด็ก : หนังสือดี

สร้างจิตสำนึกเด็กไทย

 

         วันเด็กปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2554 และเมื่อถึงวันเด็กทีไร พ่อแม่หลายคนก็คงจะอดนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่จะพาลูกๆ ไป หรือหาของเล่นดีๆ ที่ลูกอยากได้สักชิ้น ไว้เป็นของขวัญวันเด็กให้ลูกดีใจ แต่กลับลืมการมอบความรู้ที่อยู่ไม่ไกลตัว กับการเลือกหนังสือดีๆ สักเล่มเป็นของขวัญชิ้นพิเศษให้กับลูก เพื่อให้สอดรับกับ “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” คำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2554  ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบไว้

 

ของขวัญวันเด็ก : หนังสือดี

 

        

         ในงานประชุมสัมมนาสาธารณะ ของขวัญวันเด็ก : ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่” ซึ่งจัดโดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร (กศน.) เพื่อชูประเด็นการมอบของขวัญวันเด็กด้วยหนังสือดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน

 

         รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า เนื่องจากหนังสือเป็นสื่อที่เหมาะสมกับการพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ทั้งสติ ปัญญา จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการสร้างคนที่มีคุณภาพต่อสังคม อีกทั้งหนังสือยังเป็นส่วนหนึ่งต่อการสร้างสังคมที่มีความแข็งแรง ซึ่งถือเป็นรากฐานการทำให้สังคมมีคนที่มีความมั่นคง และสิ่งที่อยู่ในหนังสือช่วยเปิดโลกต่อการเข้าใจสภาพสังคมที่มีความหลากหลาย ถือเป็นการสร้างเสริมหรือฝึกทักษะให้แก่เด็กในสภาพสังคมที่เป็นจริง เพื่อเตรียมตัวเด็กให้เข้าสู่สภาพสังคมในปัจจุบัน และจากผลวิจัยก็ชี้ชัดว่าการอ่านส่งผลต่อเด็กในการเติบโตเป็นพลเมืองของสังคมที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรมและมีความเคารพในเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นการนำหนังสือมาเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปจิตสำนึกของคนไทยจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง และหนังสือเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ทำเองก็ได้ ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัว แทบไม่ได้ใช้ทุนมากมาย

 

         “การที่เราทอดทิ้งละเลยการอ่านหนังสือของเด็กในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสังคม ในเรื่องของการที่ผู้คนมีความขัดแย้งต่อกัน ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตทางปัญญาที่มั่นคง ดังนั้นต้องทำและอาจจะยากบ้างที่มีทางเลือกการบริโภคให้เด็กมีมาก และข้อจำกัดเวลาของเด็กและครอบครัว แม้จะยาก แต่หากเทียบกับกระแสที่เกิดการตื่นตัวเรื่องของการปลูกฝังการอ่านให้แก่เด็กแล้ว เชื่อว่าน่าจะกระตุกผู้ใหญ่ให้หันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และใช้หนังสือให้จริงจังมากขึ้น” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

 

 

ของขวัญวันเด็ก : หนังสือดีด้าน รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า หากเราเชื่อว่าหนังสือคือที่ผลิตภูมิปัญญาของคนในสังคมและเชื่อว่าการจะปฏิรูปสังคม เราต้องปฏิรูปความคิด ซึ่งควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อพัฒนาการสมองของเด็กที่จะปลูกฝังความรู้ที่ยาวนาน เพราะบางเรื่องเราจะรอเมื่อโตขึ้นคงไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องการปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ ที่จะพบว่าคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีในช่วง  56 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคำว่า “ซื่อสัตย์” ในคำขวัญวันเด็กเยอะมาก แต่เรื่องความซื่อสัตย์กลับไม่เป็นประเด็นทางสังคม ดังนั้น หากจะปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ให้กับเด็กผ่านหนังสือตั้งแต่ระดับปฐมวัย จึงถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม

 

         และหากจะมอบหนังสือดีๆ ให้กับเด็กสักเล่ม ก็คงมีคำถามอยู่มากเหลือเกินว่าแล้วหนังสือดีที่เหมาะกับเด็กคืออะไร ? รศ.ถิรนันท์ อธิบายว่า หนังสือดี คือหนังสือที่เหมาะกับวัยของเด็ก เป็นหนังสือภาพที่มีวิธีเล่าเรื่องที่ดี หากเป็นเด็กเล็กจะเน้นภาพเหมือนจริง พอเป็นเด็กโตมาหน่อยก็จะเน้นที่เป็นภาพวาด และเด็กสามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบรับได้ ส่วนหนังสือที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหมาะสมกับเด็กเสมอไป ขณะที่แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้คัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 108 เล่ม เป็นหนังสือภาพของไทย  67 เรื่อง (ร้อยละ 62) และหนังสือแปล 41 เรื่อง  (ร้อยละ 38) จัดแบ่งหนังสือตามระดับอายุ เป็น 4 กลุ่ม คือ 0-2,  1-3, 3-5 และ 4-6 ปี โดยในกลุ่มอายุ 0-2 ปี ไม่มีหนังสือแปล ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีทั้งหนังสือภาพของไทยและหนังสือแปล และเกินกว่าครึ่งของหนังสือแปลเป็นหนังสือในกลุ่ม 4-6 ปี โดยการคัดสรรหนังสือใช้กรอบแนวคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

         คำว่า  หน้าต่างแห่งโอกาส คือ ช่วงเวลาที่สามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ประกอบด้วย เด็กวัย 0-2 ปี คือการสร้างความผูกพันและความไว้วางใจผู้อื่น , 3-5 ปี เน้นการรู้จักถูกผิด และการควบคุมอารมณ์ตัวเอง  , 6-9 ปี เน้นเรื่องการประหยัด มีวินัยและใฝ่รู้

 

ของขวัญวันเด็ก : หนังสือดี

 

         นอกจากนี้ คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.) ยังได้สะท้อนมุมมองในเรื่องของความสำคัญของการมีกองทุนสื่อเพื่อเด็ก ตามร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะกับเด็กและเยาวชนว่า ปัจจุบันนี้จะพบว่าเด็กและเยาวชนไทยกว่า 23 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เป็นโทรทัศน์วันละ 5.7 ชั่วโมง อินเทอร์เน็ตวันละประมาณ 3-5 ชั่วโมง โดยเฉพาะการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอทีวีของเด็กที่นั่งกินขนมกรุบกรอบ ส่งผลต่อโภชนาการของเด็ก ทำให้เด็กเกิดปัญหาโรคอ้วนตามมา อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดทักษะทางสังคม ดังนั้นเราควรใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก เพราะหากเด็กได้รับสื่อที่มีคุณภาพก็จะเป็นตัวหล่อหลอมความคิดที่ดีให้กับเด็กได้

 

         สำหรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาและจะนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

 

         เหลือเพียงอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงวันเด็กแล้ว หากพ่อแม่จะลองเลือกหาหนังสือดีๆ ให้กับลูกไว้เป็นของขวัญล้ำค่า เลือกตามความเหมาะสมกับวัยของพวกเค้า ก็คงดีไม่น้อย เพราะถือเป็นการเริ่มต้นสร้างพลังแห่งคุณภาพเล็กๆ ที่จะเติบโตเป็นพลังสมองที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

 

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update : 06-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ