ขสมก. ประกาศต้าน ‘คุกคามทางเพศ’ ในที่ทำงาน

ขสมก. ประกาศนโยบายต้านการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขึ้นแท่นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่มีกลไกสกัดคุกคามทางเพศอย่างเป็นทางการ


ขสมก. ประกาศต้าน \'คุกคามทางเพศ\' ในที่ทำงาน thaihealth


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “พิธีมอบนโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขสมก.” ขึ้น ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ


นางสาวศิริพร บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ และประธานคณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขสมก. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ขสมก. มีความพยายามจัดการปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศในองค์กรอยู่แล้ว โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานของ ขสมก. ขึ้น และยังมีการตั้งผู้แทนในทุกกองและทุกสายการเดินรถ เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตาสับปะรด” คอยสอดส่องป้องกันปัญหาและรับเรื่องร้องเรียน


“แต่ที่ผ่านมา เรายังขาดความชัดเจนเรื่องช่องทางและขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน ทำให้พนักงานอาจเข้าไม่ถึงกลไกการจัดการปัญหาเท่าที่ควร เราจึงได้พัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ เรื่อง การป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และมีการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวศิริพร กล่าว


ขสมก. ประกาศต้าน \'คุกคามทางเพศ\' ในที่ทำงาน thaihealth


ประธานคณะกรรมการป้องปรามฯ กล่าวอีกว่า การจัดพิธีมอบนโยบายในครั้งนี้ มุ่งหวังให้ผู้บริหารและพนักงานในทุกส่วนงานของ ขสมก. ได้รับทราบถึงนโยบายขององค์การ ตลอดจนทราบถึงช่องทางและขั้นตอนวิธีการในการยื่นร้องเรียนหรือแสวงหาความช่วยเหลือหากถูกคุกคามทางเพศ โดยผู้ประสบปัญหาสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้หลายช่องทาง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยนโยบายและแนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้นนี้ ยังระบุถึงแนวทางให้การคุ้มครองเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียน และมีมาตรการเก็บความลับ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ร้องเรียน ทำให้พนักงานมีความมั่นใจว่าองค์กรมีความใส่ใจ และมีหน่วยงานที่พนักงานจะพึ่งพิงได้หากประสบปัญหาถูกคุกคามทางเพศ


“บางครั้งพนักงานที่มาร้องเรียนก็ไม่ได้ต้องการเอาผิดกับผู้คุกคามให้ถึงที่สุด แต่ต้องการให้มีคนรับรู้และช่วยตักเตือนให้ผู้คุกคามหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งแนวปฏิบัติที่ออกมานี้ก็มีช่องทางให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ประสบปัญหาได้ และนอกจากการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรแล้ว กรณีที่ผู้โดยสารของ ขสมก. ถูกคุกคามทางเพศบนรถโดยสาร พนักงานของเราก็มีความตระหนัก และสามารถมีบทบาทมากขึ้นในการปกป้องช่วยเหลือผู้โดยสาร” ประธานคณะกรรมการป้องปรามฯ กล่าว


ขสมก. ประกาศต้าน 'คุกคามทางเพศ' ในที่ทำงาน thaihealth


ด้าน นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก. นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งกลไกและออกนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นการเฉพาะอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่า ขสมก. เราเป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องนี้ และผลจากการที่เรามีกลไกรับเรื่องร้องเรียน และมีการประชาสัมพันธ์งานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทำให้พนักงานของเรามีความตระหนัก และทำหน้าที่เป็นหูเป็นตากันมากขึ้น ทำให้คนที่อาจเคยมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศไม่กล้าทำ ทำให้ปัญหาลดน้อยลง


นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ที่ร่วมดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศกับ ขสมก. มาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า การคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้สายตาโลมเลีย พูดจาแทะโลม ถูกเนื้อต้องตัวแบบปากว่ามือถึง ซึ่งทำให้ผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รู้สึกอึดอัด คับข้องใจ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะมองว่าการถูกคุกคามทางเพศเป็นเรื่องน่าอับอาย และกังวลว่าการเปิดเผยเรื่องราวจะสร้างผลเสียให้กับตัวเองเพิ่มมากขึ้น


ขสมก. ประกาศต้าน 'คุกคามทางเพศ' ในที่ทำงาน thaihealth


“การคุกคามทางเพศเป็นประเด็นที่คนมักมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา ไม่ค่อยมีคนพูดถึง หรืออาจพูดได้ยาก ปัญหานี้ในองค์กรต่าง ๆ จึงมักถูกซุกเอาไว้ ไม่มีการจัดการ เป็นปัญหาความไม่เป็นธรรม อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศ และส่งผลถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยเฉพาะในกรณีที่หัวหน้ากระทำกับลูกน้อง” นางสาวนัยนากล่าว


สำหรับการจัดตั้งกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศของ ขสมก. เกิดจากความร่วมมือขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์ ขสมก. มูลนิธิธีนารถ กาญจนอักษร และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของ สสส. โดยเริ่มจากพนักงาน ขสมก. ได้ร่วมกับนักวิชาการและหน่วยงานภายนอก ทำวิจัยสำรวจสภาพปัญหาการคุกคามทางเพศใน ขสมก. ในปี 2554 และต่อมา ทาง ขสมก. จึงได้จัดตั้งกลไกการรับเรื่องร้องเรียน โดยตั้ง “คณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขสมก.” ขึ้นในปี 2555 รวมทั้งตั้งผู้แทนกอง และตัวแทนพนักงานในทุกสายการเดินรถ ให้ทำหน้าที่สอดส่องและรับเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น และต่อมาก็ได้พัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ เรื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. เป็นต้นไป


 


 


ที่มา : องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

Shares:
QR Code :
QR Code