ขยายสารสนเทศเพื่อการศึกษา พัฒนาเด็กด้อยโอกาส
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สสค. ร่วมกับ จ.ภูเก็ต เดินหน้าขยายผลระบบ'สารสนเทศเพื่อการศึกษา'ยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 พัฒนาเด็กด้อยโอกาส
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตโดย เทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยนเรศวร เดินหน้าขยายผล "ระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา" เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 ตาม "พิมพ์เขียว การศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020" หลังพบว่า ระบบสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในสถานศึกษาได้ตรงจุด ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสได้เป็นรายบุคคล และส่งผลดีต่อการวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดและเพื่อการมีงานทำ ล่าสุดจับมือ "เทศบาลเมืองกระทู้" ขยายผลการดำเนินงานเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจึงเป็นเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ สูงด้วยเช่นกัน ทั้งคุณภาพชีวิต การศึกษา และความยากจน ด้วยเหตุนี้ทางเทศบาลนครภูเก็ตจึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพราะเป็นอีกแนวทางหนึ่งจะลงไปแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นนั่นก็คือคุณภาพของคนที่จะส่งผลไปถึงคุณภาพของชีวิต จึงได้นำเอาระบบสารสนเทศการศึกษามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการศึกษา โดยมองไปถึงโอกาสและความถนัดของเด็กที่จะสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้เขาสามารถค้นพบศักยภาพที่มีของตัวเองโดยไม่ได้มองแต่ในด้านมิติวิชาการเพียงอย่างเดียว
"ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือ ช่วยให้ผู้บริหาร นายก รองนายก ผอ.สำนัก การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วก็ครู สามารถที่จะมองเด็กเป็นองค์รวมแบบเรียลไทม์ ในเรื่องของการเฝ้าระวังต่างๆ ลดภาระในเรื่องความซับซ้อนของงานเอกสาร ดังนั้นถ้าทุกท้องถิ่นในทั้งหมดในจังหวัดภูเก็ตทำงานระบบ ข้อมูลนี้ด้วยจะเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ทำให้สามารถที่จะติดตามดูแลเด็กได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการทำงานของคุณครูมากขึ้น และจากการที่เราได้ทำในเรื่องของข้อมูลสารสนเทศนี้ ทำให้มีการพัฒนาต่อ นั่นก็คือในเรื่องของการทำพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020 เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพราะการจัดการศึกษานับจากนี้ไม่ได้มุ่งหวังแค่การเรียนจบหรือมีวุฒิการศึกษา แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ต้อง ตอบสนองทิศทางการพัฒนาของจังหวัดและการมีงานทำ"
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษากล่าวว่า ข้อมูลจากการนำร่องใช้ระบบสารสนเทศในสถานศึกษาทั้ง 7 แห่ง ของเทศบาลนครภูเก็ต ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020 "ระบบสารสนเทศการศึกษาพัฒนาขึ้นมาจากความต้องการของครูและผู้บริหารสถานศึกษามีการปรับปรุงและพัฒนาให้ตรงกับความต้องการอยู่เสมอ เพื่อที่จะช่วยลดภาระงานต่างๆ ในด้านเอกสารของครู เกิดการใช้ข้อมูลดูแลเด็กรายบุคคล เพื่อเฝ้าระวังติดตามสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงในการที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เกิดการนำไปใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการภายในโรงเรียนของผู้บริหาร เกิดการวางแผนในการจัดการด้านนโยบายการศึกษาของพื้นที่ ซึ่งการจัดทำพิมพ์เขียวด้านการศึกษาในครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันการใช้ระบบสารสนเทศการศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการวางแผนพัฒนาการศึกษาบนพื้นฐานของข้อมูล หรือ Evidence-based Educational Planning สำหรับประเทศไทยในอนาคต"
โดยกรณีตัวอย่างที่ข้อมูลจากระบบสารสนเทศของเทศบาลนครภูเก็ต ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากการศึกษาของ "น้องสิงห์" เด็กชายวัย 8 ขวบ ที่ไม่เคยได้รับ การศึกษาในชั้นอนุบาลมาก่อนหน้านี้ เมื่อมาเข้าเรียนในชั้น ป.1 โรงเรียนวัดขจรรังสรรค์ ก็มักจะขาดเรียนอยู่เป็นประจำ เพราะครอบครัวไม่ให้ความสำคัญประกอบกับมีฐานะยากจนมีอาชีพเก็บของเก่าขายอยู่ในชุมชนโกมารภัจร์ของเทศบาลนครภูเก็ต
"ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ไปจนถึง ผอ.กองการศึกษา หรือนายกเทศมนตรี สามารถเห็นข้อมูลปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนได้พร้อมกัน และสามารถบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว อย่างกรณีนี้ทางสถานศึกษาก็เร่งเข้าไปเยี่ยมบ้านพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ปกครอง ส่วนทางเทศบาลเองก็เข้าไปสนับสนุนทั้งเรื่องปรับปรุงสภาพบ้านให้เรียบร้อยมีสุขภาวะมากขึ้น ให้ทีมสาธารณสุขเข้ามาช่วยติดตามดูแลเรื่องปัญหาเรื่องสุขภาพให้กับน้องสิงห์ รวมไปถึงจะหาอาชีพที่มีรายได้ประจำให้กับแม่ของสิงห์อีกด้วย" นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ระบุถึงแนวทางการช่วยเหลือในเบื้องต้น
ล่าสุด "เทศบาลนครภูเก็ต" จับมือกับ "เทศบาลเมืองกระทู้" ขยายผลการจัดทำ พิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต และ เมืองกระทู้ (Phuket and Kathu Cities' Education Blueprint 2020) นำ "ระบบสารสนเทศการศึกษา" ไปใช้ในทุกสถานศึกษาในสังกัด
นายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกระทู้ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองกระทู้มียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เมืองกระทู้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ดังนั้นถ้าหากมีข้อมูลระบบสารสนเทศอยู่ในมือ ก็จะสามารถใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการคนกระทู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณอย่างมีเป้าหมาย และทำให้การดูแลเรื่องต่างๆ สามารถทำได้อย่างมีระบบ
"ผมอยากให้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองกระทู้เป็นทางเลือกของคนกระทู้ ไม่ต้องมีความจำเป็นที่เด็กกระทู้ต้องเข้าไปเรียนในตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งการเดินทางออกไปเรียนต่างพื้นที่นั้น นำมาสู่ปัญหาต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของ ผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาในการร่วมงานกับ สสค.และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพราะเมืองกระทู้จึงต้องการข้อมูลเพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการวางแผนยุทธศาสตร์ในการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งการศึกษาของท้องถิ่นนั้นหากเราวางระบบให้ดี มีข้อมูลสารสนเทศที่ดี ก็จะสามารถดูแลและส่งต่อเด็กได้ทุกระดับจนถึงมหาวิทยาลัย"
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศที่ลุกขึ้นมาจัดทำแผนการศึกษา รวมทั้งประกาศใช้ระบบสารสนเทศการศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยตัวอย่างของประเทศที่นำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนประสบความสำเร็จคือประเทศบราซิล ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลกที่คะแนน Pisa เติบโตเร็วที่สุดภายใน 15 ปี ถึงแม้ว่าจะมีความเหลื่อมล้ำและมีคนจนในประเทศไทย
"ระบบสารสนเทศฯ จึงเป็นเครื่องมือให้สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะของตนเองได้ทันที การจับมือของเทศบาลนครภูเก็ตกับเทศบาลกระทู้จึงเป็นภาพการทำงานของท้องถิ่น ที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตัวเองได้ทันที ที่สำคัญระบบสารสนเทศนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับระบบการแนะแนวอาชีพของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตด้วยในอนาคต ดังนั้นถ้า อปท.ทุกแห่งที่จัดการศึกษา มีระบบสารสนเทศเชื่อมโยงการทำงานกันได้ เด็กภูเก็ตไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายไปที่ไหน มีปัญหาเกิดขึ้นที่ใด ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลส่งต่อและก็แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งพลังของข้อมูลถือว่าเป็นกุญแจที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาในยุค Education 4.0 ที่เข้าสู่สังคมดิจิตอล ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 หากมีการจัดเก็บข้อมูลและมีระบบที่ดี หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ปัญหาได้ตรงจุด นอกจากนี้ การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้น" ดร.ไกรยส กล่าวสรุป