ขยายผล “ต้นแบบชุมชนปลอดบุหรี่” จังหวัดลำพูน
ที่มา : โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่)
แฟ้มภาพ
สสส. จับมือกองงานฯ ขยายผล “ต้นแบบชุมชนปลอดบุหรี่” จังหวัดลำพูน
นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 โดยในยุทธศาสตร์ที่ 3 เน้นเรื่องชุมชนเป็นฐาน สร้างความยั่งยืนในการควบคุมยาสูบ ซึ่งการนิเทศติดตามหนุนเสริมดำเนินงานในระดับพื้นที่ ทำให้พบว่า ชุมชนบ้านชัยสถาน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการดำเนินงานควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง ภายใต้แกนนำชุมชน อสม. และชาวบ้านในพื้นที่
โดยกล่าวชื่นชมการทำงานที่เข้มแข็งของทุกฝ่าย พร้อมระบุว่า พื้นที่ตำบลอุโมงค์ ถือเป็นต้นแบบที่ดี และจะนำสิ่งที่เรียนรู้ครั้งนี้ไปขยายผลต่อ และได้เน้นย้ำโจทย์สำคัญ คือ การสร้างความยั่งยืนในการทำงานให้เกิดขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ได้อย่างแท้จริง
สำหรับพื้นที่ตำบลอุโมงค์ เน้นแนวทางการขับเคลื่อนงาน ตามหลักคิด “รพ.สต.ของประชาชน” ใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ สร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนและดำเนินงาน สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้าง 5 วิถีปลอดบุหรี่ โดยชุมชนท้องถิ่น ได้แก่
1. เพิ่มคนต้นแบบ : สร้างบุคคลต้นแบบ จากผู้ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้เลิกบุกรี่ มาเป็นแกนนำในการสร้างแรงจูงใจ
2. เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ : เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในชุมชนและการจัดให้มีพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย
3. เพิ่มกติกาทางสังคม : กำหนดให้พื้นที่ของทุนทางสังคม (แหล่งเรียนรู้) เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่
4. นวัตกรรมคลินิกเลิกบุหรี่ : จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาสูบในพื้นที่ พัฒนาบริการของหน่วยสุขภาพในพื้นที่ บริการบำบัดโดยภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น การนวดสมุนไพร การใช้สมุนไพรช่วยเลิก สร้างช่องทางการเข้าถึงและส่งต่อผู้สูบบุหรี่ไปยังหน่วยงานบำบัดฟื้นฟู และพัฒนานวัตกรรมการบำบัดโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน
5. การบังคับใช้กฎหมาย : ขอความร่วมมือ สร้างความเข้าใจ “ร้านค้าในชุมชน” ให้ทำตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการกำหนดเไม่ให้จำหน่ายบุหรี่แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามไม่ให้มีการแบ่งขายบุหรี่ รวมทั้งไม่แสดงสินค้าบนชั้นวาง
นางพวงผกา สุริวรรณ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบในพื้นที่ว่า จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่าอัตราการบริโภคยาสูบลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 11.07 จากอัตรา ร้อยละ 12.7 ในปี 2563 ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานตามกฎหมาย พร้อมระบุว่าการบริโภคยาสูบเป็นเรื่องของพฤติกรรม การจะปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ยาก แม้ตัวเลขจะลดลงแต่ก็ยังต้องทำเพิ่มขึ้น ด้วยการนำกลไกต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้
การดำเนินควบคุมยาสูบของจังหวัดลำพูน เป็นไปตาม 5 มาตรการ ประกอบด้วย การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด (คผยจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นกลไกที่กำหนดนนโยบาย และยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีการนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กำหนดนโยบายชัดเจนในการลดยาสูบ เน้นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม ลดนักสูบหน้าใหม่ ทำให้จำนวนนักสูบเดิมลดลง โดยคณะกรรมการ พชอ. จะรับนโยบายมาขับเคลื่อนต่อในระดับอำเภอต่อไป
ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ได้ประชาสัมพันธ์ และจัดเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งทางกฎหมาย ผนวกการทำงานกับทีมจัดระเบียบทางสังคม ไม่เน้นการตรวจจับ แต่จะตรวจเตือน พร้อมทั้งจัดอบรมผู้ประกอบการยาสูบให้มีความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้กับผู้บริโภค รู้โทษพิษภัยบุหรี่ เพื่อลดการเข้าถึงยาสูบให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญที่สุด คือการลดนักสูบหน้าใหม่ ด้วยการสร้างความรู้ให้กับเยาวชนที่จะเข้าสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ ด้วยการจัดการอบรม แทรกเนื้อหาเข้าไปในรายวิชา สปช. เพื่อให้เด็กตระหนักรู้ รวมถึงการเข้าไปถึงโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เพราะจากข้อมูลยังพบการสูบบุหรี่ ก็จะเข้าไปประชาสัมพันธ์ พร้อมสร้างองค์ความรู้เรื่องโทษพิษภัย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
“มาตรการที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ คือ การสร้างชุมชนปลอดบุหรี่ อย่างในหมู่บ้านเชตวัน อำเภอเมือง ถือเป็นชุนชนต้อนแบบปลอดบุหรี่ ได้มีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็ง หนุนเสริมโดยทีมแกนนำและเครือข่ายในพื้นที่ ซี่งมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะหากพื้นที่ไม่เข้มแข็ง ไม่มีการเสริมพลังให้ชุมชน การทำงานก็จะไม่สำเร็จ และไม่เกิดความยั่งยืน” นางพวงผกา กล่าวย้ำ
ส่วนเรื่องการบำบัดรักษานั้น มีคลินิกอดบุหรี่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และกำลังขยายไปที่ รพ.สต. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงจากประชาชน มีระบบส่งต่อชัดเจน ผ่าน อสม. ที่จะค้นหาผู้สูบบุหรี่ที่อยากเลิกสูบมาเข้าสู่ระบบ
นางพวงผกา กล่าวว่า อยากให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนเวทีถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานมากขึ้น เพราะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ จะเป็นการต่อพลังให้กับพื้นที่อื่น ๆ และเกิดแรงผลักภายในที่อยากทำให้ชุมชนตนเองปลอดบุหรี่ ควบคู่ไปกับการเสริมพลังบุคลากรที่ทำงานด้านยาสูบ ให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ปลอดบุหรี่ต่อไป
ขณะที่ นางพิมนภา ใบยา ผู้อำนวยการ รพ.สต.อุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า รพ.สต. ได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างชุมชนปลอดบุหรี่ 3 ประเด็น ได้แก่
1. การคืนข้อมูลปัญหาทางสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนและประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาทางสุขภาพ ทั้งเรื่องการเจ็บป่วย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา
2. จัดทำโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณมาขับเคลื่อนงานชุมชน
3. ประสานบุคลากรจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาช่วยกันดำเนินการลด ละ เลิกบุหรี่ในชุมชน ทั้งสหวิชาชีพ ทีมพยาบาลบำบัด รวมถึงพยาบาลจิตเวช
สำหรับการดำเนินงานนั้น จะเน้นกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักสูบที่เป็นคนทำงาน ผู้สูงอายุที่สูบมานาน ก็จะพยายามให้เข้ามาร่วมกิจกรรมลดละเลิกบุหรี่ ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการไม่จำหน่ายบุหรี่ การจัดสถานที่ปลอดบุหรี่ ทั้งวัด โรงเรียน และสถานที่สาธารณะ ให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคลินิกฟ้าใสในชุมชน ที่ให้คำปรึกษาและให้ยาสมุนไพรที่ผลิตขึ้นเองจากปราชญ์ชุมชน มีการอบสมุนไพรจากแพทย์แผนไทย ซึ่งคลินิกนี้จะเปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 15.00 – 17.00 น. เพื่อให้บุคลากรสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่
ผู้อำนวยการ รพ.สต.อุโมงค์ กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จในการทำงาน ได้แก่
1. นโยบายที่กำหนดโดยระดับจังหวัด ลงมาสู่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยการดำเนินงานในระดับอำเภอของอำเภออุโมงค์นั้น เป็นการทำงานผ่าน พชอ. ขับเคลื่อน 5 เมือง โดยมีนายอำเภอเมืองลำพูน เป็นประธาน มีสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นเลขานุการ ขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่ายสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
2. การทำงานแบบบูรณาการในทีมสหวิชาชีพ และทีมหมอครอบครัว ผ่านนโยบาย 3 หมอ 3 มอบ ประกอบด้วย หมอคนที่ 1 คือ อสม. ที่ถือเป็นแกนหบักในการชวนลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งแต่ละคนจะมีข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของชาวบ้านทั้งหมด หมอคนที่ 2 เจ้าหน้าที่ รพ.สต และเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ หมอคนที่ 3 แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและส่งต่อ มีเภสัชกร ดูแลเรื่องยา และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลด ละ เลิกบุหรี่ มีพยาบาลจากคลินิกฟ้าใส คอยดูแล
3. การมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชุมชน คนต้นแบบ รวมทั้งเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงาน ลด ละ เลิกบุหรี่ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมตักบาตรเพื่อระดมทุน จัดหาเครื่องมือมาช่วยชุมชนในการทำงาน
“เรื่องของงบประมาณถือเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ นอกจากงบประมาณที่ได้จากกองทุนสุขภาพตำบลแล้ว ยังมีงบประมาณและสื่อต่าง ๆ จาก สสส. ซึ่งงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรร ได้นำมาบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยให้ประชาชนในพื้นที่เลิกบุหรี่ได้ตามเป้าหมายในที่สุด”
ขณะที่ นางสาวดวงเดือน อินสินธุ์ รองนายกเทศมนตรี ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตำบลอุโมงค์มีประชากรประมาณ 13,060 คน ซึ่งเทศบาลให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก จึงเข้าสนับสนุนเรื่องการลดละเลิกบุหรี่อย่างเต็มที่ เพราะบุหรี่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยสนับสนุนเรื่องงบประมาณตามที่ชุมชนขอ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 พร้อมระบุว่า ณ ขณะนี้ คนในชุมชนตระหนักถึงโทษของบุหรี่ว่าทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะยังพบเห็นการสูบบุหรี่อยู่บ้าง แต่ทุกฝ่ายในพื้นที่ก็ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
ด้านนางวันเพ็ญ ส่งน้อย ประธานชมรม อสม.อุโมงค์ จังหวัดลำพูน กล่าวถึงบทบาทของ อสม. ในการชวนประชาชน ลดละเลิกบุหรี่ ว่า อสม. มีข้อมูลสุขภาพของชาวบ้านอยู่ในมือ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ทราบว่า ชาวบ้านมีสุขภาพอย่างไร มีใครสูบบุหรี่ มีใครเป็นโรคเรื้อรังหรือไม่ จากนั้นจะนำข้อมูล ทั้งหมดเป็นฐานตั้งต้นในการทำงาน เพื่อค้นหาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เลิกบุหรี่ได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากคนที่สมัครใจอยากเลิกมาก่อน จากนั้นก็จะสร้างกำลังใจให้กับคนในชุมชน สร้างความเชื่อมั่นในการอยากเลิก สร้างความเข้าใจในครอบครัวเพื่อร่วมผลักดันให้อยากเลิก
ขณะที่ อสม. ก็ต้องติดตาม ให้กำลังใจ ให้ความรู้เรื่องทั้งเรื่องการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมย้ำว่า การทำงานที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของ อสม. ทั้งเรื่องการรับนโยบาย และการสร้างองค์ความรู้ให้กับ อสม. รวมทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมทุกระดับ ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ช่วยสร้างชุมชนปลอดบุหรี่ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ส่วน นางศรีไพร โปธา พยาบาลวิชาชีพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จังหวัดลำพูน พยาบาลเฉพาะทางยาเสพติดและจิตเวช กล่าวถึงการเข้ามาช่วยสนับสนุนการสร้างชุมชนปลอดบุหรี่ว่า ในฐานะพยาบาลจิตเวช มีหน้าที่ในการเสริมศักยภาพของทีม เพื่อสนับสนุนเรื่องความรู้ในการประเมิน State Of Change เทคนิคทักษะการให้คำปรึกษา การพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้รับการบำบัดรู้สึกมีคุณค่าไม่รู้สึกว่าถูกด้อยค่า และการทำงานที่ต้องอาศัยทั้งครอบครัวของผู้ที่อยากเลิกสูบบุหรี่ โดยการใช้กระบวนการ อสม.บัดดี้ ดูแลตามพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Individual care plan หรือ แผนการดูแลเฉพาะบุคคล เพื่อดูแลผู้บำบัดและครอบครัว เพราะถ้ากาย จิต สังคม ของผู้ที่อยากจะเลิกไม่พร้อม ก็เลิกบุหรี่ไม่ได้ ควบคู่ไปกับการใช้โปรแกรมการเสริมสร้างสมรรถนะ ใช้แหล่งความรู้และประสบการณ์จากคนไข้เอง มาเป็นเทคนิคสำคัญในการช่วยเลิก สร้างบุคคลต้นแบบที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน บริบทเดียวกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องจัดการอุปสรรคในชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งตนเองและครอบครัว กาย จิต สังคม ถ้าจัดการได้จะเกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อเดินไปถึงเป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ปลอดบุหรี่ ควบคู่ไปกับการเสริมกำลังใจให้กับทีมงาน ซึ่งสามารถใช้วิชาจิตเวชเข้ามาสร้างระบบให้เห็นความเชื่อมโยง ผ่านโครงการ 3 หมอ ลดรอยต่อในการทำงานและส่งต่อคนไข้
“ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการช่วยให้ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่สามารถได้สำเร็จ เพื่อร่วมด้วยช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างยั่งยืน” นางศรีไพร กล่าวย้ำ
ด้านนายสุทัศน์ ศรีวิชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ได้ดำเนินการชุมชนปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อใช้ชาวบ้านในชุมชนรู้ถึงโทษภัยของบุหรี่ว่า ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง พร้อม ๆ กับประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ มาเข้ารับการบำบัดรักษาที่คลินิกฟ้าใส ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างดี