ขยายทีม“ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำ

ที่มา: สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค


ขยายทีม“ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


 กระทรวงสาธารณสุข  จัดเวทีมอบโล่รางวัลของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (ระดับประเทศ) ประจำปี 2560   และเป็นครั้งแรกที่ผู้ผลักดันการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำระดับโลก 2 ท่าน ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับประเทศไทย พร้อมเผย 3 ปีที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั่วประเทศมีทีมผู้ก่อการดีกว่า 2,000 ทีม เด็กได้เรียนว่ายน้ำเกือบ 4 แสนคน และประชาชนได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) กว่า 1.7 แสนคน

         ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ  นายแพทย์อัษฎางค์  รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมดำเนินการ จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมเจ้าท่า, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สถาบันการพลศึกษา, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, ศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี และสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ร่วมเปิดเวทีสัมมนา Merit Maker…Drown No More 2017 “สานพลังผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” และมอบโล่รางวัลระดับประเทศ แก่ทีมที่ได้รับรางวัลผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำประเภทต่างๆ ประจำปี 2560

          นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ แต่ละปีมีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ย 1,015 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายดำเนินงานป้องกันการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2549 จนสามารถทำให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปี (ปี 2549 จมน้ำเฉลี่ย 1,500 คน และปี 2559 จมน้ำ 713 คน)  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้เรื่องนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยใช้กลยุทธ์หลักคือการสร้างทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558  

          สำหรับทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) เป็นการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการป้องกันการจมน้ำ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดย 3 ปีที่ดำเนินการมา ทำให้เกิดทีมผู้ก่อการดี 2,177 ทีม ใน 74 จังหวัด  และเตรียมขยายทีมผู้ก่อการดีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ต่อไป ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ มีทั้งการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดำเนินการเพื่อป้องกันการจมน้ำ สถานบริการสาธารณสุข/ชุมชน/โรงเรียนมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็กในพื้นที่ เกิดวิทยากรสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนั้น ยังทำให้เด็กอายุ 6-14 ปีได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 391,487 คน และคนในชุมชนหรือเด็กได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 174,236 คน

          นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศกว่า 650 คน จากหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ภาคท้องถิ่น สำนักงานป้องกันภัยจังหวัด มหาวิทยาลัย สมาคม มูลนิธิ จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพิธีมอบโล่รางวัลแก่ทีมผู้ก่อการดี ระดับประเทศ ประจำปี 2560 จำนวน 55 รางวัล ได้แก่ ผู้ก่อการดีฯ ระดับทอง 4 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)  ผู้ก่อการดีฯ ระดับเงิน 10 รางวัล และผู้ก่อการดีฯ ประเภทต่างๆ รวม 41 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร)

          ที่สำคัญในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้ผลักดันงานป้องกันการจมน้ำระดับโลก และผู้จัดงาน World Conference on Drowning Prevention จำนวน 2 ท่าน ได้แก่  Mr. Justin Scarr  ตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการป้องกันการจมน้ำของ International Life Saving Federation, ประธานกรรมการบริหาร ของ Royal Life Saving Society Australia และประธานสภาความปลอดภัยทางน้ำประเทศออสเตรเลีย และ Dr.David Meddings ผู้ดูแลงานป้องกันการจมน้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เจนีวา  ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเห็นว่าในระดับนโยบาย  ประเทศไทยมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยหน่วยงานภาครัฐ คือกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ตลอดมา  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code