ขยายทางด่วนไปต่างจังหวัด
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
การทางพิเศษฯ ขยายการก่อสร้างทางพิเศษเพิ่มขึ้น ทั้งกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ ๆ
พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. กล่าวถึงผลการดำเนินงานในอนาคตว่า ในปีที่ผ่านมา การทางพิเศษฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือมุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ ระยะทางประมาณ 360 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2561
ปัจจุบัน การทางพิเศษฯ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต รวมถึงศึกษาโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยาพระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
ทั้งนี้ ปัจจุบัน การทางพิเศษฯ ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง 5 ทางเชื่อมต่อ ระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ล่าสุดการทางพิเศษฯ ได้เปิดให้บริการทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษกที่ปรับปรุงใหม่ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร
สัปดาห์ก่อน มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาสานพลังจป. หยุดความตายบนท้องถนน โดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เหยื่อเมาแล้วขับ และผู้ถูกคุมประพฤติในคดีเมาแล้วขับ ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ร่วมประชุมด้วย
คุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของคนงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศกว่า 20 ล้านคน แต่ตามกฎหมายจะมุ่งเน้นความปลอดภัยในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตในสถานประกอบการพัฒนาไปมาก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการมีสถิติที่ต่ำมาก แต่ปัญหาที่สถานประกอบการเผชิญอยู่ คืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนที่เป็นภัยคุกคาม โดยมีคนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นที่จะหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา.