‘ขยับแบบโขน’ ศิลปะไทย ‘สุขภาพดี’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


'ขยับแบบโขน' ศิลปะไทย 'สุขภาพดี' thaihealth


แฟ้มภาพ


"โขน" คือศิลปะการแสดงชั้นสูง ที่มีทั้งความสง่างาม อ่อนช้อย และกระฉับกระเฉง ทั้งนี้ ด้วยลีลา"การขยับร่างกาย"เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะการร่ายรำ ของการแสดงโขน ในทางการแพทย์ ในทางวิชาการ มีข้อมูลระบุว่า…การขยับร่างกายแบบโขนนั้น ทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นทั้งส่วนแขน และขา นอกจากนั้น ยัง ช่วยให้สุขภาพจิตแจ่มใส ทำให้ระบบสมองถูกพัฒนา ด้วยการขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลีลาของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง…


ทั้งนี้เกี่ยวกับ "ประโยชน์ของโขน" ในแง่มุมดังกล่าวนี้เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยไว้ในพิธีเปิดงานการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ispah2016) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ อีกทั้งยังมีกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพร่วม โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การสนับสนุน ซึ่งได้มีการนำ "โขน" มาจัดแสดงในการเปิดงานประชุมครั้งนี้ด้วย


สาเหตุที่ทางคณะผู้จัดงานได้นำนาฏศิลป์ชั้นสูง อย่าง "โขน" มาเป็นการแสดงเปิดฉากเวทีว่าด้วยสุขภาพนานาชาติครั้งนี้ เบื้องลึก-เบื้องหลังนั้น ทาง รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุไว้ว่า…สสส. และทีมผู้จัดงาน ได้เลือก "โขน" มาเป็นการแสดงในพิธีเปิด ก็เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่า…โขนไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะประจำชาติไทย แต่ยังเป็นรูปแบบกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ที่น่าสนใจอีกด้วย เนื่องจากรูปแบบ "การเล่นโขน-การรำโขน" นั้น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า…ช่วยในเรื่องการบริหารร่างกายและกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี นับเป็นส่วนผสมลงตัวระหว่างศาสตร์และศิลป์


"การแสดงท่วงท่าของโขนนั้น ผู้สวมบทบาทต้องอาศัยกำลังกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพื่อแสดงออกผ่านท่วงท่าต่าง ๆ ของตัวละคร ซึ่งกว่าที่ตัวละครเหล่านี้จะขึ้นเวทีทำการแสดงได้ก็ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก โดยผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงเท่านั้น จึงจะแสดงโขนได้" รศ.นพ.ปัญญา ระบุ


'ขยับแบบโขน' ศิลปะไทย 'สุขภาพดี' thaihealth


พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า…ตัวละครในโขน ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และวานรหรือตัวลิงนั้น แต่ละตัวละครก็จะมีท่าทางลีลาที่ผสมผสานทั้งความอ่อนช้อยและเข้มแข็งโดยในทางวิชาการสามารถจำแนกท่วงท่าเหล่านี้ตาม "ระดับความหนักเบาของการเคลื่อนไหว" ได้ครบทั้ง 3 ระดับ นั่นคือ…ระดับเบา ปานกลาง และหนัก โดยพิธีเปิดครั้งนี้ทางผู้จัดหยิบยกโขนตอน "ยกรบ" มาจัดแสดง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในตอนที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงลีลาท่ารำที่ประณีตงดงาม มีเรื่องราวการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์


อย่างไรก็ตาม กับประเด็นที่ว่า…แล้วจะชวนให้คนหันมาสนใจ "ออกกำลังกายด้วยโขน" ได้อย่างไร? กับเรื่องนี้ รศ.นพ.ปัญญา ระบุว่า…เริ่มที่เด็ก  ซึ่งการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนฝึกโขน จะช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ลดการติดมือถือ หรือลดการใช้ชีวิตหน้าจอ ให้กับบุตรหลานได้ การสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ฝึกโขน จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่พ่อแม่-ผู้ปกครอง


ด้าน เจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายความถึง "คุณประโยชน์ของการออกกำลังกายจากการฝึกโขน" ไว้ว่า…การแสดงโขนโดยทั่วไปเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะทั้งทางด้านร่างกาย การรับรู้ และประสาทสัมผัส ซึ่งถ้าพูดในเชิงสุขภาพแล้ว "โขนเป็นกิจกรรมทางกายที่มีประโยชน์มาก"จะเห็นได้จากผู้ที่ทำการแสดงโขนนั้น ต้องใช้ร่างกายผ่านท่าทางของตัวละครต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง มีการวัดผลในเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงสถิติ มีผลจากการ "วัดค่ากายและค่าสมอง" ด้วย


ทั้งนี้ เรื่อง "การวัดผล" เพื่อหาค่าทางกายและสมองนั้น อ.เจษฎาระบุว่า…ตัวละครโขนที่ร่ายรำนั้น แต่ละตัวละคร แต่ละท่วงท่ามีการเคลื่อนไหวร่างกายแตกต่างกัน เช่น "ตัวลิง" เป็นตัวละครที่มีท่าทางการเคลื่อนไหวมาก โดยเฉพาะบริเวณขา โดยมี ค่าการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือค่า PA สูงกว่าตัวละครอื่น และมี ค่าทางสมอง หรือ Brain Activity สูงมากเช่นกันส่วนตัวละครอื่น ๆ อย่าง "ตัวพระ" แม้จะมีการเคลื่อนไหวไม่ค่อยมาก ทำให้ค่า PA ออกมาน้อยกว่าตัวลิงนิดหน่อย แต่ในส่วนค่าทางสมองที่วัดค่าได้จะมีค่าที่สูงกว่าตัวลิง เนื่องจากมีการใช้ท่าทางที่ซับซ้อน และก็ใช้ร่างกาย กล้ามเนื้อ หลายส่วน ขณะที่ "ตัวนาง" และ "ตัวยักษ์" ค่าการเคลื่อนไหวร่างกายหรือค่า PA กับค่าทางสมองนั้น ค่าที่วัดได้จะอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ทั้งนี้และทั้งนั้น "โขน" นอกจากเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายแล้ว ยังช่วยให้สมองส่วนต่าง ๆ ทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย


"ทุกตัวละคร ถ้ามีการเคลื่อนไหว 1 ครั้งจะทำให้สมองมีการประสานงานในหลายส่วน หลัก ๆ ก็จะเป็นสมองที่ควบคุมส่วนเคลื่อนไหว ตามมาด้วยสมองที่ควบคุมในเรื่องของการฟัง เพราะการแสดงโขนต้องฟังและจับจังหวะด้วย สุดท้ายคือสมองที่ควบคุมการทรงตัว ดังนั้น จึงพูดได้ว่า โขนดีต่อกายแล้ว ยังดีต่อการพัฒนาระบบสมองด้วย"


เหล่านี้เป็นอีกหนึ่งกรณี "มหัศจรรย์แห่งโขน" การแสดงรูปแบบนี้ทั้งเป็น "นาฏศิลป์ชั้นสูง" และยังสามารถ "ช่วยให้สุขภาพดี" ได้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code