‘ขยะเพิ่ม’ ชุมชนเสี่ยงโรคผิวหนัง-ทางเดินหายใจ

สธ.เผยขยะในประเทศไทยมีมากกว่า 14 ตันต่อปีมากจากการขยายตัวของชุมชนชี้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคโดยเฉพาะในเด็ก-ผู้สูงอายุ

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “สัปดาห์ความสะอาดแห่งชาติ บ้าน ชุมชน ตลาด สะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย”ว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 60 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่การจัดการขยะมีไม่ถึง 70 % ขยะเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงวัน แมลงสาบ ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค กาฬโรค ฯลฯ การสูดดมขยะ ฝุ่นละออง ก๊าซหรือไอสารพิษจากขยะอันตรายยังส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ หรือการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังเมื่อสัมผัสขยะ อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนัง และโรคมะเร็งได้ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเติบโตของเมืองมากขึ้น ประชากรเพิ่มขึ้น และกระแสบริโภคนิยมส่งผลกระทบต่ออนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ปัญหามลพิษอากาศ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของชุมชนแออัดในเขตเมือง ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหาร

ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารและโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ รวมถึงการป่วยจากเหตุอาคาร (sick building syndrome) ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จากสถานการณ์ดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยจึงเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 – 2559 ในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ของประเทศ ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมและบ้านเรือนให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในกิจกรรมรณรงค์ขึ้นมา

ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนที่อยู่ในบ้านและชุมชนต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะเพื่อลดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก เนื่องจากโรคภูมิแพ้จัดเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อับทึบ ชื้น มีเชื้อรา หรือฝุ่นละออง จึงควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ โดยเฉพาะห้องนอน ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและรับแสงสว่างจากธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนเชื้อรา หมั่นทำความสะอาดอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง

เพื่อลดการสะสมของเศษผิวหนังตกค้าง ซึ่งจะเป็นอาหารของไรฝุ่น หากพบว่าบริเวณใดของบ้านมีเชื้อรา เช่น ห้องน้ำ ฝาผนังที่ชื้น ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำผสมคลอรีน ซึ่งหากทำความสะอาดทั่วไปให้ใช้คลอรีน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน ส่วนการฆ่าเชื้อโรคให้ใช้คลอรีน ¾ ถ้วย ต่อน้ำ 1 แกลลอน การเก็บรวบรวมเศษขยะ สิ่งปฏิกูล ให้ใส่ถุงมัดปากถุงให้แน่น เพื่อรอหน่วยงานนำไปกำจัด ส่วนส้วมที่ชำรุดเสียหาย ควรเร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดี ไม่มีสิ่งปฏิกูลรั่วไหลออกมาภายนอก และดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคยุงลาย หนู แมลงสาบ ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อต่าง ๆ

“สำหรับตลาดสด ผู้ประกอบการควรล้างตลาดเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงภาวะปกติ แต่หากเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ ควรล้างสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยการล้างตลาดควรคำนึงถึง 3 จุดสำคัญ ได้แก่ พื้น เขียง แผง การล้างตลาดที่ถูกหลักสุขาภิบาลมี 2 ขั้นตอนสำคัญคือ ขั้นตอนที่ 1 การล้างด้วยน้ำและผงซักฟอกเพื่อกำจัดคราบสกปรก แต่หากมีคราบไขมันจับให้ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผงทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถู เพื่อขจัดคราบน้ำมัน ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีนใส่ลงในฝักบัวรดน้ำและรดบริเวณแผง เขียง ทางเดิน ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว จากนั้นทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีน ฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจางราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว ห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะและก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยา ทำความสะอาดหรือผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code