ขยะล้นเมืองเล็งปรับทำสวนสาธารณะ
ประเทศไทยขยะล้นเมือง เกิดขยะปีละ 15 ล้านตัน แต่กำจัดขยะไม่ถูกต้องถึง 81% “กรมอนามัย”เตรียมเสนอ ครม. ชุดใหม่ปรับกองขยะไม่แพร่สารเคมีลงแหล่งน้ำทำสวนสาธารณะ พร้อมออกกฎหมายเก็บค่าบำบัดขยะ เล็งผุดโครงการจับมือออมสินให้ นร. นำขยะแลกเงิน
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น กทม. 8,766 ตัน เขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยา 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาลประมาณ 16,146 ตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 เป็นขยะนำไปรีไซเคิลได้ร้อยละ 30 แต่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลเพียง 26% เท่านั้น หรือ 3.91 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะได้รับงบประมาณก่อสร้างระบบกำจัดขยะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง เป็นต้น ถึงร้อยละ 81 ของสถานที่ที่มีการกำจัดขยะ
นพ.พรเทพ กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาคือ 1. แยกขยะครัวเรือนหรือการแยกทิ้งขยะ ซึ่งบางส่วนจะถูกนำไปจำหน่าย นำกลับไปใช้ใหม่ จนขยะที่ต้องนำไปกำจัดมีน้อยลง 2. ออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ ซึ่งเดิมไม่สามารถเก็บได้ 3. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ เน้นการบำบัดหรือกำจัดที่แหล่งกำเนิด 4. สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีวิธีการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ และเข้มงวดการทิ้ง การกำจัดขยะอันตราย และ 5. สำรวจกองขยะเก่าเพื่อทำสวนสาธารณะ
“ล่าสุด กรมฯได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ลงนามความร่วมมือสำรวจกองขยะเก่าเพื่อปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะใหม่ เบื้องต้นพบกองขยะเก่ามีสูงถึง 2,490 แห่งจากทั่วประเทศ แบ่งเป็น 1. บ่อขยะที่มีการจัดการถูกสุขลักษณะจำนวน 466 บ่อ เป็นบ่อของภาครัฐ 427 บ่อ 2. บ่อขยะที่ไม่มีการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ 2,024 บ่อ หรือประมาณ 80% โดยเป็นของรัฐถึง 1,889 บ่อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นของ อปท. และ เทศบาลต่างๆ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า กรมอนามัยจะเสนอ ครม. ชุดใหม่ 3 เรื่อง คือ 1.ทำกองขยะให้เป็นสวนสาธารณะ โดยจะตรวจสอบก่อนว่ากองขยะใดไม่มีการปล่อยสารเคมี โลหะหนักลงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง และจะทำข้อเสนอให้เจ้าของพื้นที่หรือท้องถิ่นฝังกลบทำเป็นสวนสาธารณะ 2. เสนอร่างกฎกระทรวงเก็บค่าบำบัดขยะเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมาประชาชนจะเสียแค่ค่าขนขยะไปทิ้งเท่านั้น ต้องเพิ่มเรื่องการบำบัดขยะให้ถูกวิธีด้วย เบื้องต้นเสนอว่า ครัวเรือนไหนมีขยะมากเกิน 5 กิโลกรัมจะต้องจ่ายค่าบำบัดขยะไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะกำหนดราคาแตกต่างกัน และ 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ฉบับปรับปรุง 2550 หากไม่ดำเนินการตามก็จะมีความผิดโดยมีโทษปรับเบื้องต้น 10,000 บาท
“นอกจากนี้ จากโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในปี 2558 จะดำเนินการสร้างส้วมในโรงเรียนต่างๆ เบื้องต้น 60 แห่ง จึงมีแนวคิดเชิญชวนคนในกรมอนามัยจัดหาขยะหรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วนำมาขาย เพื่อสมทบทุนในโครงการดังกล่าว รวมถึงจะหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อแลกขยะเป็นทุนการศึกษาให้เด็กด้วย โดยเปิดบัญชีให้นักเรียนเก็บออม ด้วยการนำขยะเหลือใช้จากบ้านเรือน นำมาให้ทางโรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จากนั้นทางโรงเรียนจะนำไปชั่งขายและนำเงินเข้าบัญชีเด็ก ซึ่งนอกจากจะได้จัดเก็บขยะอย่างถูกวิธี ลดปริมาณการใช้ขยะ ยังช่วยให้เด็กรู้จักการเก็บออมเงิน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต