ขนส่งบังคับใช้ ไม่สวมหมวกกันน็อคห้ามเข้า!

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ขนส่งบังคับใช้ ไม่สวมหมวกกันน็อคห้ามเข้า!  thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมขนส่งทางบก ออกประกาศกำหนดพื้นที่ภายในขนส่งฯ ทั่วประเทศเป็นเขต “สวมหมวกกันน็อค” บังคับ 40 ล้านคนบนถนนปลอดภัย ถ้าผู้ขับขี่และคนซ้อนท้ายไม่สวมห้ามเข้า


ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่ภายในกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศเป็น “เขตสวมหมวกนิรภัย” (หมวกกันน็อค) 100% นั่นหมายความว่า หากไม่สวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อนท้าย…ห้ามเข้า!!


มาตรการนี้ แม้ไม่ได้สั่งจับปรับเพราะเป็นเรื่องของตำรวจ แต่ ขบ.ใช้วิธีการรณรงค์เชิงป้องกันอุบัติเหตุบนถนนหลวงด้วยการจัดสถานที่จอดรถจักรยานยนต์ (จยย.) หรือที่เราเรียกกันว่า “รถมอเตอร์ไซด์” สำหรับผู้ที่ไม่สวม “หมวกนิรภัย” เข้าติดต่อราชการ


“กรมการขนส่งทางบก พร้อมนำร่องเป็นองค์กรแห่งความปลอดภัย ด้วยการประกาศเป็นเขตสวมหมวกนิรภัย100% พร้อมให้เจ้าหน้าที่บุคลากรภายในหน่วยงานของกรมฯ เป็นแบบอย่างที่ดีกับประชาชนที่ขับขี่รถ จยย.เข้ามาติดต่อราชการ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดการสูญเสียชีวิตประชาชน ร่วมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้มีวินัยการขับขี่ ปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง” นายสนิท พรหมวงษ์” อธิบดี ขบ. ประกาศลั่นถึงการนำร่องเป็นองค์กรแห่งความปลอดภัยในครั้งนี้


ขณะที่ นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี ขบ. บอกแนวทางปฎิบัติว่าทุกสำนักงานขนส่งทั่วประเทศได้เตรียมพื้นที่จอดรถ จยย.ให้ผู้ที่มาติดต่อราชการทั้งคนขับและผู้โดยสาร หากไม่สวม “หมวกนิรภัย” ได้จอดรถแล้วเดินเข้าไปติดต่อธุระภายในสำนักงานขนส่ง จะไม่มีผู้ขับขี่รถ จยย.ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยขับขี่รถไปยังสถานที่ต่างๆ ในสำนักงานขนส่งได้เหมือนแต่ก่อน


ได้กำชับเจ้าหน้าที่และรปภ.แนะนำด้วยความสุภาพ สำหรับการจัดพื้นที่จอดรถให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ แต่คาดว่าจะรองรับได้เพียงพอ ขณะเดียวกันได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเผยแพร่คลิปประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ให้ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง เข้าใจและปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน


ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก มีรถ จยย. จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ ณ วันที่ 28 ก.พ.61 เป็นรถ จยย.ส่วนบุคคล 20,578,784 คัน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 3,551,097 คัน และภูมิภาค 17,027,687 คัน หากนับคนซ้อนด้วย 1-2 คน รวม 20-40 ล้านคนเลยทีเดียวที่จะได้ประโยชน์จากการรณรงค์ตามมาตรการนี้


อีกทั้งในแง่จิตวิทยา ถือว่าน่าจะช่วยกระตุกกระตุ้นผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้สวม “หมวกกันน็อค” ได้ไม่มากก็น้อย ทั้งเรื่องจิตสำนึกแห่งความปลอดภัย และหากไม่สวมหมวกกันน็อคก็ต้องจอดรถเดินไกล แล้วจะมีใครไม่อายบ้าง???…ถ้าถูกเรียกเตือนว่า “ไม่สวมหมวกกันน็อค” ครั้งต่อไปก็ต้องหาหมวกมาสวม


ที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก กำหนดให้ผู้ขับขี่รถ จยย. และผู้โดยสารต้องสวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันอันตรายขณะขับขี่และโดยสาร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท รวมทั้งยังห้ามผู้ขับขี่รถ จยย. ขับขี่รถขณะที่คนโดยสารไม่สวมหมวกนิรภัย หากฝ่าฝืนผู้ขับขี่จะถูกปรับเป็น 2 เท่า


 


และยิ่งถ้าคนขับรถไม่สวมหมวก บรรทุกคนโดยสารที่ไม่สวมหมวกด้วยแล้วจะถูกจับเป็นความผิด 2 ข้อหา คือตัวเองไม่สวมหมวกมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และออกรถโดยที่คนโดยสารไม่สวมหมวกถูกปรับเป็น 2 เท่าด้วย แต่คนไทยก็ยังฝ่าฝืนกฎหมายกว่าครึ่ง!!


ดูข้อพิสูจน์ได้จากข้อมูล อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559 (ซึ่งเป็นปีล่าสุด) ของมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ได้วิจัยสำรวจและรายงานว่า รวมผู้ขับขี่รถ จยย. และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัย 43% เฉพาะผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย 51% และผลสำรวจเฉพาะผู้โดยสารมีเพียง 20% เท่านั้นที่สวมหมวกนิรภัย ทั้งที่ประโยชน์ของหมวกกันน็อคก็มีผลวิจัยออกมายืนยันมากมายว่าช่วยลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุ


ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 60 ตั้งแต่วันที่ 11-17เม.ย.60 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง เสียชีวิต 390 ราย บาดเจ็บรวม 3,808 คน รถ จยย. แชมป์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3,230 คัน ส่วนรถกระบะ 260 คัน


สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังละเลยเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่และการโดยสาร แม้มาตรการนี้ไม่ใหม่แกะกล่อง เพราะเห็นบางจังหวัดประกาศเขตสวมหมวกนิรภัย 100% เช่น ในศาลากลางจังหวัดหรือพื้นที่โซนในเมืองไว้ควบคุมพฤติกรรมพวกแว้นหรือขาซิ่ง แต่กรมขนส่งฯ เป็นหน่วยงานใหญ่มีสาขาทั่วประเทศ แต่ละวันประชาชนต้องไปติดต่อทั้งเรื่องใบขับขี่และงานทะเบียนรถจำนวนมาก


อยากให้หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันประกาศพื้นที่ควบคุมแบบนี้ เชื่อว่าไม่ใช่แค่สถิติการสวม “หมวกกันน็อก” ของคนไทยเพิ่มขึ้น แต่นั่นหมายถึง “ชีวิต” ประชาชนคนไทยก็จะปลอดภัยขึ้นเมื่ออยู่บนท้องถนน

Shares:
QR Code :
QR Code