ขนส่งชวนงดเหล้าเข้าพรรษา
“กรมขนส่ง”ชวนงดเหล้า คาดประชาชนแห่งดดื่มเข้าพรรษาลดยอดอุบัติเหตุเจ็บ-ตาย
กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “กรมการขนส่งทางบก ชวนงดเหล้าเข้าพรรษา”โดยมี นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานและร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชุด&ldquoลั่นระฆังงดเหล้า เริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อตนเองและครอบครัว&rdquo โดยจับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถ่วงน้ำ พร้อมทั้งเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์งดเหล้าเข้าพรรษา ให้กับประชาชน พนักงานขับรถ
นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง4 วันประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา ทำบุญ ทำกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเพื่อสืบทอดประเพณีที่ดีงามของไทย แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่ามีหลายครอบครัวต้องประสบกับความสูญเสียของคนในครอบครัว คนรัก เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน สาเหตุหลักมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ เราจึงร่วมทำความดีงดเหล้าเข้าพรรษา เริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อตนเองและครอบครัว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และเพื่อเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมทำความดีงดดื่มสุราช่วงเข้าพรรษา3เดือน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระสังฆราชทรงพระชนมายุ 100 พรรษา และในหลวงทรงพระชนมายุ86 พรรษา
“เราได้มีมาตรการคุมเข้มในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเน้นย้ำไม่ให้มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่งผู้โดยสารอย่างเด็ดขาด รวมถึงห้ามดื่มบนรถโดยสาร โดยจะมีการรณรงค์เฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว
ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกเห็นตรงกันว่า การควบคุมให้มีการดื่มน้ำเมาน้อยมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อ สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมมากเท่านั้น จึงได้แนะนำประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ให้ประชาชนหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น จำกัดการบริโภคในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งทั้งสองมาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนการห้ามจำหน่ายในวันพระใหญ่ ห้ามดื่มในที่ห้ามดื่ม ก็จะช่วยลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง แม้นักดื่มจะยังสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เตรียมไว้ได้ก็ตาม แต่จากผลการศึกษาของประเทศนอร์เวย์ เรื่องการหยุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยืนยันได้ว่า มาตรการจำกัดการขายมีผลต่อนักดื่มกลุ่มที่ดื่มหนักและต่อเนื่อง นอกจากนี้ข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังระบุว่า เทศกาลเข้าพรรษา เป็นช่วงที่ยอดอุบัติเหตุลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และปัญหาอาชญากรรม คดีความต่างๆลดลง
“การงดดื่ม3 เดือนไม่ใช่เรื่องยาก เชื่อว่ากิจกรรมนี้ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้เลิกดื่ม เกิดการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มและเกิดความมั่นใจว่าสามารถเลิกดื่มได้ ทั้งนี้คาดว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตั้งใจอธิษฐาน งดเหล้าตลอด3เดือน และตลอดชีวิต เพราะหากดูสถิติจะพบว่าเข้าพรรษา เป็นช่วงที่มีคนโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาจากสายด่วน1413 มากที่สุด”ภก.สงกรานต์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำที่คิดจะใช้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกดื่ม อย่างแรกที่ต้องทำคือ ประเมินอาการของตนเองว่าที่ผ่านมา การดื่มสุราส่งผลกระทบกับร่างกายรุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมากควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำบำบัด ส่วนคนที่ดื่มไม่มากไม่เคยมีอาการดังกล่าวหรือมีเพียงเล็กน้อยและไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถเลิกดื่มได้เอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์