ก.แรงงานร่วมใจ ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009
หวังสร้างแกนนำในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน จัดงานเปิดตัวโครงการ “แรงงานร่วมใจ ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้แก่แรงงานไทยทั่วประเทศ พร้อมปล่อยขบวนรถคาราวานประชาสัมพันธ์ จำนวน 6 คัน เพื่อแจกหน้ากากป้องกันโรค และเชิญชวนให้ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำเปล่าหรือเจลล้างมือ พร้อมมอบสื่อประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แก่แรงงานอย่างทั่วถึง ณ บริเวณลานน้ำพุ กระทรวงแรงงาน
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เงียบหายไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความชะล่าใจและไม่ดูแลสุขอนามัยของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้โรคร้ายชนิดนี้กลับมาระบาดได้อีกครั้ง ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากต่างประเทศที่เริ่มมีข่าวการกลับมาของโรคมรณะนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องป้องกันทำการป้องกันไว้ก่อน โดยการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่เป็นกลจักรสำคัญในการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยกันผลักดันให้ผู้ใช้แรงงานเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคชนิดนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตั้งรับต่อการระบาดระลอก 2 โดยการจัดหน่วยเฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาด และสร้างแกนนำในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม”นายไพฑูรย์ กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า หลังจากที่ สสส. ได้ทำการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ แล้วจึงเล็งเห็นว่า ในช่วงฤดูหนาวที่คาดว่าจะเกิดระบาดอีกครั้ง กลุ่มแรงงานจึงเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องป้องกันจากความเสี่ยงของโรค เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมของประเทศ โดยจะรณรงค์ให้ใส่หน้ากาก ล้างมือด้วยเจลทำความสะอาด สร้างความตระหนักให้กลุ่มผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับให้ความรู้กลุ่มผู้ใช้แรงงานถึงโทษภัยของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยในกลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า 3 ล้านคน
“ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการรณรงค์ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน 11 จังหวัด 20 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมในส่วนกลาง 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บางชัน และธัญญธานี นิคมอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาคอีก 17 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อมตะนคร เหมราชชลบุรี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ บางปู บางพลี บางปะอิน บ้านหว้าไฮเทค นวนคร อิสเทร์นซีบอร์ด อมตะซิตี้ มาบตาพุด เวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร นิคมอุตสาหกรรมสงขลา และในส่วนภูมิภาคอีก 10 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 17 นิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื่อแพร่ระบาดมากไปกว่านี้” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
เรื่องโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร team content www.thaihealth.or.th
Update: 24-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร