ก.ค.นี้ เปิด รพ.จิตเวช จ.พิษณุโลก แห่งที่ 20 ของประเทศ
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต เตรียมเปิดโรงพยาบาลจิตเวชขนาด150เตียงแห่งที่20ของประเทศที่ จ.พิษณุโลกเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชทุกโรคที่อาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ประจำ5จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง อยู่ระหว่างจัดความพร้อมระบบ พร้อมบริการ ก.ค.นี้
น.ต.นพ.บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปีนี้กรมสุขภาพจิตจะเปิดโรงพยาบาลจิตเวชแห่งใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลกขนาด 150 เตียง ซึ่งเป็นแห่งที่ 20 ของประเทศตั้งอยู่ที่ อ.วังทองใช้งบก่อสร้าง 381 ล้านบาท เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชที่มีอาการรุนแรงยุ่งยากซับซ้อนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ประจำเขตสุขภาพที่ 2 โซนภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์และมีพื้นที่บางส่วนติดต่อกับประเทศเมียนมาร์และลาวด้วย มีประชาชนประมาณ5ล้านคน ซึ่งเป็นเขตสุขภาพเดียวที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชดูแลที่ผ่านมาประชาชนที่เจ็บป่วยทางจิตเวชหรือมีปัญหาสุขภาพจิตและมีอาการรุนแรงจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประมาณ 2,000 คน ต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครสวรรค์หรือจังหวัดเลยซึ่งอยู่ห่างประมาณ150- 300กิโลเมตร
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค ระบบบริการที่จะสอดรับกับระบบดิจิทัล 4.0 และบุคลากรบริการทุกสาขา คาดจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม2561ในระยะแรกจะเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉินจิตเวชตลอด 24 ชั่วโมงก่อนและขยายผลรับผู้ป่วยในระยะต่อไป
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับผลการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเพื่อให้บรรลุตามตัวชี้วัดซึ่งมีทั้งหมด21ตัวพบว่าในรอบ8เดือนมีความก้าวหน้า เช่น การดูแลเด็กเล็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ไม่สมวัย ซึ่งสะท้อนคุณภาพเด็ก โดยเฉพาะด้านสมอง สติปัญญา เช่นเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นเด็กที่ขาดออกซิเจนระหว่างคลอดเป็นต้นพบว่าสามารถกระตุ้นให้กลับมาเป็นปกติสมวัย ร้อยละ 98 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 70 ส่วนการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชที่ยังต้องเร่งรัดคือเด็กโรคสมาธิสั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสหาย เข้าสู่ระบบการศึกษาได้เหมือนเด็กทั่วไปหากได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่ยังเด็ก แม้ขณะนี้การเข้าถึงบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากเดิมที่อัตราต่ำมากได้มอบหมายให้โรงพยาบาลจิตเวชสถาบันสุขภาพจิตเด็กและศูนย์สุขภาพจิตเร่งพัฒนาระบบตั้งแต่การพัฒนาเครื่องมือ การค้นหาเด็กที่ผิดปกติ การพัฒนาระบบการดูแลรักษาให้เร็วขึ้นในด้านของคุณภาพบริการรักษาดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่กลับมาป่วยซ้ำหรือไม่ก่อความรุนแรงทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นพบว่าสามารถป้องกันผู้ป่วยก่อความรุนแรงภายใน1 ปีหลังได้รับการรักษาได้ร้อยละ99.44ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากเสพยาเสพติด หลังรักษาหยุดเสพต่อเนื่องใน 3 เดือนร้อยละ 94