ก้าวแห่งความสุข ของ ‘เก้าเลี้ยว’
หลังจากผ่านกระบวนการถอดบทเรียน ทำให้ตอนนี้เรามีอยู่ 7 ระบบ 32 แหล่งเรียนรู้สำหรับเพื่อนเครือข่ายและสำหรับชาวเก้าเลี้ยวเพื่อก้าวสู่ความเป็นชุมชนสุขภาวะ
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ “นายกิตติวัฒน์ เลิศพรตสมบัติ” เล่าว่า ผมเป็นคนในพื้นที่เก้าเลี้ยว พื้นเพแต่เดิมทำงานรับราชการกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเก้าเลี้ยว และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แต่เดิมในสมัยที่ สสส. ยังไม่เข้ามา การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการทำกิจกรรมต่างๆ ยังน้อย ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนเห็นว่า ได้เลือกตั้งและมอบหน้าที่ให้นายกฯ ไปแล้ว นายกฯ ต้องไปจัดการ เพราะฉะนั้นในการเรียกประชุมหรือขอความคิดเห็นต่างๆ รวมไปถึงการทำกิจกรรมก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
“นั่นเป็นแรงผลักดันให้เรามาหาคำตอบว่า จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พอดีทางเรามองเห็นกลุ่มๆ หนึ่งว่า คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยวมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 16 ขณะที่ค่ามาตรฐานของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 10 เพราะฉะนั้น เราจึงนำคิดจะนำผู้สูงอายุกลับมาเป็นกำลังสำคัญ โดยเอาข้าราชการที่เกษียณมาเป็นกลไกขับเคลื่อนในกลุ่ม ผ่านการจัดตั้งชมรมขี่จักรยาน ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ”
นายกิตติวัฒน์ เล่าต่อว่า จนวันนี้เมื่อเราเป็นแม่ข่ายน้องใหม่ล่าสุดในโครงการตำบลสุขภาวะของ สสส. โดยเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555 แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ เราต้องผ่านการเป็นลูกข่ายมา 1 ปี ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มเติมประสบการณ์ ทำให้เราเห็นว่า ตำบลเรามีความพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นแม่ข่ายได้แล้ว มีการประเมินทุนและศักยภาพของตัวเอง แล้วนำเสนอกับทาง สสส. เมื่อได้รับการพิจารณาเห็นแล้วว่า มีความเหมาะสมที่จะเป็นแม่ข่าย ก็เลยตกลงทำความตกลงหรือทำเอ็มโอยูกัน
“การเข้าร่วมกับ สสส. เป็นประโยชน์แก่ชุมชนแน่นอน เพราะการทำงานกับ สสส. เปิดโอกาสให้เรามีเพื่อนในเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ให้เราได้ศึกษาว่า ที่ไหนดีไม่ดีอย่างไร แล้วก็ชวนชาวบ้านไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน เมื่อไปดูแล้วก็กลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง โดย สสส. จะมีจุดเด่นในการขับเคลื่อนเครือข่าย ช่วยหนุนเสริมในเชิงวิชาการ มีคณะอาจารย์มาช่วยดูว่า รูปแบบกิจกรรมของเรา ต้องการสนับสนุนในเชิงวิชาการมากน้อยแค่ไหน เพราะเราจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรของท้องถิ่น เพื่อให้เพื่อนของเรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลำดับต่อไป”
นายกเทศมนตรีฯ มองว่า แนวทางการพัฒนาลักษณะนี้เป็นรูปแบบที่มีความยั่งยืน ขณะที่เมื่อก่อน ชาวบ้านพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ขาดการประเมินการแก้ไขในปัญหาต่างๆ พอเข้าร่วมตรงนี้ ก็เหมือนมีฝ่ายวิชาการเข้ามาตามเก็บรายละเอียด งานก็มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยหลังจากผ่านกระบวนการถอดบทเรียน ทำให้ตอนนี้เรามีอยู่ 7 ระบบ 32 แหล่งเรียนรู้สำหรับเพื่อนเครือข่ายและสำหรับชาวเก้าเลี้ยวเพื่อก้าวสู่ความเป็นชุมชนสุขภาวะ
“ในความคิดของผม ชุมชนสุขภาวะ คือสภาวะของทุกคนในชุมชนที่มีความสุขทั้ง 4 มิติ มิติที่ว่าคือ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มิติในเรื่องของจิตใจ มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ มิติในเรื่องของสังคม คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และสุดท้ายคือมิติในด้านปัญญา อยู่ด้วยกันอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแก้ปัญหา สังคมเราจะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นตำบลที่น่าอยู่”
อนาคตหากเราสามารถพัฒนาตัวเองสู่ชุมชนที่มีการรับรู้ประเด็นของปัญหา มีการระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนร่วมรับผิดชอบในการประเมินและการแก้ไขปรับปรุง มีการดำเนินการจากรุ่นสู่รุ่น ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสานต่อ ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เพราะผมเห็นแล้วว่า ชุมชนจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีมิติของเครือข่าย ทำงานประสานกันเหมือนเพื่อน ตลอดจนความราบรื่นในการทำงานกับทางราชการ ภาคท้องถิ่น ภาคท้องที่ รวมไปถึงภาคเอกชน ทุกกลุ่มทุกแหล่งเรียนรู้จึงมีความสำคัญทั้งหมด เพราะการจะสร้างตำบลให้น่าอยู่ ไม่ใช่ว่าระบบใดระบบหนึ่งจะเป็นพระเอก ทุกระบบก็คือหนึ่งในฟันเฟือง
ขณะที่เรื่องของการบริหารในภาพรวม เก้าเลี้ยวสามารถจัดการตัวเองได้ เพราะการบริหารงบประมาณมีการจัดการอย่างยืดหยุ่น ทั้ง สสส. เองก็รู้ดีถึงกลไกของระบบทางราชการ การใช้จ่ายเงินจึงต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนั้นเราจึงเอากิจกรรมเป็นตัวตั้ง ว่ากิจกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้ตามความเป็นจริงอย่างสมเหตุสมผล และมีการตรวจสอบงบประมาณกับแผนงานว่าตรงกันหรือไม่
ทุกวันนี้ ปัญหาหนึ่งที่เราเผชิญคือ การเมืองท้องถิ่นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ชอบเรา กับกลุ่มที่ไม่ชอบเรา ถ้ากลุ่มไหนไม่ชอบเรา ถึงแม้เราจะพัฒนาอย่างไร เขาก็ตำหนิเราหรือค้านเราเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการจะทำชุมชนสุขภาวะให้ได้ผลอย่างเต็มที่คงเป็นไปไม่ได้ ได้ผลเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าดีแล้ว นั่นจัดเป็นปัญหาหนึ่ง
ที่มา : เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (สำนัก 3 สสส.)