ก้าวย่างแห่งสติ วิ่งสมาธิ พิชิตโรค NCDs

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งาน “เดิน วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข”

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                   “จากข้อมูลของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย พบว่า สถิติการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในปี 2564 มีมากถึงร้อยละ 63 ซึ่งมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ที่คนไทยมีอัตราการมีกิจกรรมทางกายเพียงแค่ร้อยละ 54.3 เท่านั้น”

                   และจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน กลับพบว่าอัตราการมีกิจกรรมทางกายในปี 2565 นั้น มีการลดลงเพียงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม อาชีพและรายได้ ยังคงมีอิทธิพลที่ส่งผลถึงระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวม

                   โดยผลสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายตามกลุ่มวัย พบว่า กลุ่มวัยผู้ใหญ่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 65.8 วัยสูงอายุ ร้อยละ 60.6 ในขณะที่กลุ่มวัยเด็กและเยาวชนลดลงค่อนข้างมาก จากร้อยละ 24.2 ในปี 2564 เหลือเพียงร้อยละ 16.1 เท่านั้นในปี 2565 ซึ่งมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่า 11 ปีที่ผ่านมา

                   ชี้ให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง อันเป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างเร่งด่วนที่สุด

                   เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันมีต้นเหตุจากการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมาที่ผ่านมา สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย จัดงาน “เดิน วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข” ภายใต้หัวข้อ “Running Living in the Moment : จิตแข็งแกร่ง อยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” ณ สวนสราญรมย์ กรุงเทพฯ เ หรือในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567  พร้อมอีกกว่า 60 สนามวิ่งทั่วประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 23

                   ในงานมีกิจกรรมทางกายให้กับคนไทย โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “กิจกรรมเดิน วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีเป้าหมายส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย โดยเน้นให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ภายใต้แนวคิดว่า จิตที่แข็งแกร่งอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง

                   โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำสมาธิควบคู่ไปกับการวิ่ง โดยไม่มีการแข่งขัน มุ่งสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม ให้การออกกำลังกายมีสภาพแวดล้อมที่ดี และเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย”

                   “โดยกิจกรรมจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายของ สสส. ที่มุ่งเน้นส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และป้องกันการเกิดโรค NCDs และ ส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่ายรณรงค์ ส่งเสริมกิจกรรม ควบคู่การพัฒนาสมาธิ ปฏิบัติบูชา เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ พร้อมทำบุญ รับศีล ฟังธรรม เวียนเทียน และลด ละ อบายมุข ถวายเป็นพุทธบูชาช่วงวันวิสาขบูชาด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

                   ขณะเดียวกัน ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า “คนเรามักจะออกกำลังกายให้แข็งแรง แต่ละเลยเรื่องจิตใจตนเอง โดยจิตใจที่แข็งแกร่ง จะต้องเกิดจากจิตที่มั่นคง และจิตที่มั่นคง เกิดจากจิตที่มีสมาธิซึ่งสวนทางกับการฝึกร่างกายให้แข็งแรง ที่เกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนไหว มีกิจกรรมทางกาย

                   ดังนั้น หากต้องการทำร่างกายและจิตใจให้สมดุล จะต้องประสานการออกกำลังกายให้เข้ากับการออกกำลังจิตมีความรู้ตัว และกำหนดลมหายใจเข้า-ออกได้ทุกขณะตามจังหวะของร่างกาย การวิ่งโดยตั้งมั่นในสมาธิ กำหนดลมหายใจในทุกอิริยาบท จึงทำให้เกิดจิตที่แข็งแกร่งในร่างกายที่แข็งแรงได้”

                   การวิ่งสมาธินั้นจะมีความแตกต่างจากการวิ่งแข่งขันทั่วไป ที่การวิ่งแข่งทั่วไปนั้นมีจุดมุ่งหมายที่การเอาชนะ โดยที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจเท่าที่ควร

                   แต่การวิ่งสมาธิ จิตจะจดจ่อกับร่างกายอย่างเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถกำหนดลมหายใจเข้า-ออกได้โดยรู้ตัวไปพร้อมกับการเคลื่อนไหว แต่ทั้งนี้ วิ่งเร็วก็ทำสมาธิได้ วิ่งช้าก็ทำสมาธิได้เช่นกันเพียงแต่ต้องทำให้การหายใจสัมพันธ์กับจังหวะของการย่างก้าว และการแกว่งแขนด้วยนั่นเอง

                   พร้อมขานรับด้วยจุดประสงค์ของกิจกรรมเดิน วิ่งสมาธิ โดย นายเธียรสิทธิ์ จิโรจน์วีรภัทร ประธานมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมการเดินวิ่งสมาธิ มีเป้าหมายเพื่อให้นักวิ่งได้เรียนรู้ที่จะหยุดนิ่งอยู่กับตัวเองในขณะที่มีกิจกรรมทางกายไปด้วย

                   ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังส่งผลต่อจิตใจ ในด้านของอารมณ์ซึ่งสมาธิจะมีส่วนช่วยในการลดความเครียด วิตกกังวลและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย”

                   “โดยกิจกรรมได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 นอกจากมุ่งเน้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ตั้งมั่นสมาธิในร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังน้อมนำคำสอนของพระพุทธศาสนาในการตั้งมั่นในศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขาเป็นหลักในการสร้างสุขภาวะดี 4 มิติ ทั้ง กาย จิต ปัญญา สังคม รวมไปถึงการรับน้ำเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง พร้อมตักบาตรและเวียนเทียนเมื่อจบกิจกรรมอีกด้วย” นายเธียรสิทธิ์ กล่าว

                   เพราะจิตที่แข็งแกร่ง ต้องอยู่คู่กับร่างกายที่แข็งแรง สสส.จึงมุ่งเน้นสร้างกิจกรรมทางกายที่ทุกคนทำได้ โดยผนวกการทำสมาธิ สร้างจิตใจที่แข็งแกร่งเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติต่อไป 

Shares:
QR Code :
QR Code