ก้าวต่อไป…คุณภาพชีวิตคนไทยในอนาคต
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งาน ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ วันที่ 22 ธันวาคม 2566
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“…การดูแลสุขภาพอย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทันของประชากรทุกวัย ผ่านการรับรู้ข่าวสารผ่านเทคโนโลยี ช่วยคาดเดาและสร้างอนาคตของเราได้ดีขึ้น ทําให้โลกทัศน์ของผู้คนเปลี่ยนไป เพราะเริ่มรู้เห็นสิ่งที่ไกลตัวได้ง่ายมากขึ้น สามารถปรับตัวหรือรับมือได้ดี จนใช้ชีวิตได้ตามปกติในอนาคตและทุกสถานการณ์…”
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวในงาน ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต
กล่าวอีกด้วยว่า การที่สสส. ให้ความสำคัญการรู้เท่าทัน การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพผ่านนวัตกรรมการจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย หรือ ThaiHealth Watch เป็นไปเพื่อการสร้างแนวทางลดความเสี่ยงทางสุขภาพในอนาคต
จึงมีการตั้งวงเสวนาถกเรื่องสุขภาวะกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี โดยวิเคราะห์สถานการณ์ แต่ดูจากเทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งที่โลกกำลังพูดถึง จากหลักการ 3S ประกอบด้วย Situation สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพ .Social Trend กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ และ .Solution ข้อแนะนำทั้งระดับปัจเจกบุคคลและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคม เกิดเป็น 7 ประเด็นทิศทางสุขภาพสำคัญที่น่าจับตามองในปี 2567 มีทั้ง เรื่องสังคมต่างวัย การกินหวาน การพนันออนไลน์ สุรา ยาเสพติด ฝุ่น PM2.5 และ ภาวะโลกเดือด
เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้เด็ก เยาวชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้น สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงนวัตกรรมทางสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ดังนี้
1. ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด เมื่อไทยต้องเป็นครอบครัวข้ามรุ่น เนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันมากขึ้น เกิดปัญหาจากทั้งฝั่งผู้ใหญ่ ที่มองว่าทำไมลูกหลานไม่เข้าใจ และเด็กที่มองว่าผู้ใหญ่ทำให้รู้สึกแย่ กลายเป็นการเผชิญความเครียดทางอารมณ์และความบกพร่องทางจิตใจ ทางออกที่ดีคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไม่ตัดสิน และพูดคุยกันได้ การพัฒนา‘นักสื่อสารสุขภาวะ’ ของคนหลากหลายวัย เข้ามาช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้
2. ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มรสหวาน มิตรยามว่างหรือศัตรูเรื้อรังเด็กไทย จากการทำการตลาด โฆษณาขนม และเครื่องดื่มกับเด็กไทย ส่งผลให้มีเด็กไทยถึง 20% ที่ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมทุกวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มโตเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรคเบาหวานถึง 31% สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
3. เยาวชนไทยบนโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน มองถึงเทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น พบคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี ติดการพนันออนไลน์ถึง 3 ล้านคน เข้าถึงได้อย่างง่ายดายทั้งลิงก์จากหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงการโปรโมทผ่านอินฟลูเอนเซอร์ โดยเด็กและเยาวชนมองว่าการพนันไม่ใช่สิ่งอันตราย และไม่รู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งภาวะซึมเศร้า การเกิดความรุนแรง และอาชญากรรม การสร้างความเข้าใจเรื่องโทษการพนันจึงสำคัญมาก ในการทำให้มีต้นทุนความรู้มากขึ้น
4. สุราท้องถิ่นนอกระบบ ความหลากหลายบนความเสี่ยงทางการควบคุม เนื่องจากสุราพื้นบ้านแต่เมื่อก่อนยังไม่ได้เห็นภาพชัด โดยถือว่าสุราพื้นบ้านเป็นดาบสองคม แม้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ก็จริง แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน อันเนื่องมาจากการผลิต การเติมสารแปลกปลอมอ้างสรรพคุณด้านชูกำลัง หรือเสริมสมรรถนะทางเพศ รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต จากการใช้เมทิลแอลกอฮอล์ที่บริโภคไม่ได้
5. เยาวชนกับภูมิคุ้มกันในยุคที่ยาเสพติดเข้าถึงง่าย พบว่ายาเสพติดมีความหลากหลาย เข้าถึงง่าย และมีราคาถูก ทำให้เกิดปัญหาวัยรุ่นลองยา จากจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดกว่า 1.2 แสนคนในปี 2565 พบเยาวชนอายุ 18-24 ปี เป็นผู้เสพอันดับ 2 รองจากอันดับแรกที่อายุมากกว่า 39 ปี สิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพ และการทำให้ผู้เสพสามารถมีทางเลือกชีวิตไม่กลับไปทางเดิมได้
6. ลมหายใจในม่านฝุ่น ต้นตอปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย เนื่องจาก PM 2.5 ฝุ่นเล็ก ๆ แต่สร้างปัญหาใหญ่ เช่น มะเร็งปอด มีต้นตอจากหลายสาเหตุ ทำให้สภาพอากาศเป็นพิษ เช่น การเผาไร่ โรงงาน ไอเสียรถในเขตเมือง และการเผาป่าของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปี 2566 พบ ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ถึง 1,730,976
7. โลกเดือดสะเทือนไทย ทางออกในวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร พบว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศา น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายใน 10 ปี ทำให้เชื้อโรคโบราณคืนชีพและเกิดโรคระบาด ส่งผลให้พืช 25% จาก 8 หมื่นชนิดสูญพันธ์ กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสสส.สร้างต้นแบบ “หนองสนิทโมเดล” ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารผ่านการจัดการระบบอาหาร ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เสริมว่า “ ในแต่ละปีก็จะมีประเด็นที่ต้องจับตาแตกต่างกัน และสำหรับทางออกในวิกฤติความมั่นคงทางอาหารนั้น การจัดการส่วนต้นทาง จะต้องมีทั้งระบบเกษตรกรรม เรื่องพื้นที่ การชลประทาน พืชพรรณ การเกษตรต้องยั่งยืน มีรายได้ สำหรับฝั่งผู้บริโภค ที่ทำได้ คือ การเลือกกินเพื่อให้มีสุขภาพดี แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรามองเห็นทั้งห่วงโซ่อาหาร และการมีความรู้คู่ระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยด้วย”
สสส.เดินหน้าสร้างการรู้เท่าทัน การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงในอนาคตและทุกสถานการณ์