ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


ท่ามกลางการต่อสู้อันยาวนาน วันนี้ดูจะมีเรื่องน่าชื่นใจ เมื่อสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดย ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากเดิมที่ คนไทยสูบบุหรี่ร้อยละ 30 ตอนนี้ลดลงเหลือ เพียงร้อยละ19.1 สะท้อนได้ว่าประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบที่ดีในการดำเนินงานควบคุมยาสูบในหลายๆ ด้าน


แต่ปัญหาเรื่องของบุหรี่และยาสูบนั้นนับเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมา ช้านานกว่าที่คิด แต่ละปี "บุหรี่" ยังคง คร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยปีละ 50,000 คน และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ถึงปีละ 75,000 ล้านบาท


แต่นอกจากนี้ ภายในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 เรื่อง บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมองโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังสะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงโรคที่คนไทยคุ้นเคยคือ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง อีกข้อมูลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ คือ บุหรี่ เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย โดยข้อมูลระบุว่า ปี พ.ศ.2559 ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิตด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็น 32.3 คนต่อแสนประชากร และโรคหลอดเลือดในสมองเป็น 48.7 คนต่อแสนประชากร แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง คือ "ควันบุหรี่"


แนวร่วมเฮหลังแนวโน้มนักสูบไทยลด


ประเดิมด้วยรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยในรอบกว่า 25 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2560) พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2534 มีจำนวนผู้ที่บริโภคยาสูบ 12.26 ล้านคน (ร้อยละ 32) ลดลงเป็น 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) ในปี 2560 ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบ จึงมุ่งเน้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เดิมเลิกสูบ


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากมีภาคี ทุกหน่วยงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงเกือบร้อยละ 20 ในฐานะแกนกลางขับเคลื่อน ภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจที่หลายฝ่ายร่วมกันควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นการช่วยเหลือกันระยะยาวอย่างต่อเนื่อง หากสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยได้จำนวนมากและช่วยชีวิตคนไทยได้มหาศาล


"ถ้าเราควบคุมการสูบบุหรี่ได้ เราก็จะลดการเสียชีวิตของคนไทยไปได้จำนวนมาก โดยมาตรการในการควบคุมมีตั้งแต่ทำยังไง ให้คนที่ไม่สูบบุหรี่รู้ถึงพิษภัยและไม่สูบบุหรี่ ซึ่งความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีมาตรการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมาย ค่านิยม และทัศนคติ เข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้เยาวชนรุ่นใหม่ถือเป็นกำลัง ขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง"


อีกหนึ่งองค์กรที่ผลักดันต่อเนื่อง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการผลักดันและสนับสนุนเครือข่ายที่ทำงานควบคุมยาสูบ ว่า การควบคุม ลด ละ เลิก บุหรี่ เป็นภารกิจสำคัญ ของ สสส. ซึ่งมีการสนับสนุน ผู้สนใจ ผู้ทำงานหลัก และทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบในด้านต่างๆ ซึ่งสถิติดังกล่าวได้แสดงถึงชัยชนะขั้นต้น แต่ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ยังคงตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจะลดลงเหลือ ร้อยละ 16.7 ภายในปี 2562


"หัวใจสำคัญอีกอย่าง คือ ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบโดยไม่ได้เป็นผู้สูบเอง มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อย่างตลาดสด ร้านอาหาร และสถานีขนส่ง ซึ่งต้องช่วยกันรณรงค์และ ขับเคลื่อนให้เห็นถึงโทษภัยของการสูบบุหรี่ ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นส่วนหนึ่งจากการที่สูบบุหรี่ ซึ่งถ้าทุกภาคส่วนช่วยรณรงค์และกระจายความรู้ให้กว้างขวางขึ้น คงจะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


บุหรี่ 4 ภัยคุกคามต่อการพัฒนา


ด้านกรมควบคุมโรค ที่มีบทบาท ในการควบคุมการบริโภค พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีเป้าหมาย ในการทำงาน จากการประมาณการจำนวน ผู้สูบบุหรี่จำนวน ร้อยละ 30 เพื่อให้จำนวนผู้สูบลดน้อยลง ไม่เกินร้อยละ 15 ในปี 2568 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ 4 มาตรการ คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบ สร้างความตระหนักเรื่องพิษภัยและรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ช่วยผู้เสพให้เลิกยาสูบ และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เพื่อมุ่งสู่สังคมไทยที่ปลอดบุหรี่นั่นเอง


ชวนคนทำงานเลิกบุหรี่


อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญ หลังพบสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของคนทำงานในสถานประกอบการที่เป็นห่วง และคนในสถานประกอบการ ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุ 15-59 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ในเวทีเสวนาหัวข้อ เลิกบุหรี่ ลด NCDs ในสถานประกอบการจึงเปิดประเด็นด้วย ดร.สมพร เนติรัฐกรนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดี วิถีชีวิตไทย ให้ข้อมูลว่า สถิติของผู้ป่วยโรค NCDs ทำให้รู้ว่าวัยทำงาน กำลังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งมีที่มาจากอาหารการกินและสภาพแวดล้อมต่างๆ อีกทั้งในเรื่องของ การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ที่ดูเหมือนว่า ไม่ได้ลดน้อยลง


"ในภาพรวมการสูบบุหรี่ของคนใน วัยทำงานพบว่ามีร้อยละ 24 จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดเป็นเรื่องของพฤติกรรม มาตรการในการแก้ปัญหา คือ การสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างในการปรับปรุงและพัฒนาสุขภาพในที่ทำงาน สำหรับที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการ 'สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข'ซึ่งขณะนี้พยายามพัฒนากลไกและ บูรณาการในสถานประกอบการ ให้ผู้นำ หรือเจ้าของสถานประกอบการ มาร่วมกัน ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในโรงงาน"


สถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการที่เล็งเห็นถึงสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับคนในวัยทำงาน ภายใต้ความร่วมมือ ของกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี 2555 โดยการดำเนินการดังกล่าวมีการสร้างทีมส่งเสริมสุขภาพและร่วมกับหลายๆ ภาคส่วน ออกแบบหลักสูตรให้เป็นมืออาชีพ และพัฒนาชุดข้อมูล จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ นอกจากนี้กระทรวงกำลังขับเคลื่อน ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน เน้นเรื่องการ ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยง กาย ใจ พฤติกรรม และให้คำปรึกษา คัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ


เปิดใจองค์กรปลอดควันตัวอย่าง


บริษัท คูซุ่นเฮงหลีเทกซ์ไทล์ จำกัดหนึ่งในองค์กรต้นแบบ ที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และรูปแบบการดำเนินโครงการดังกล่าว บุญสืบ ชมรัตน์ ผู้จัดการโรงงาน เปิดใจในฐานะต้นแบบคนสำคัญขององค์กร ที่เคยสูบบุหรี่แล้วสามารถเลิกได้ว่าเป็นเวลากว่า 20 ปีที่สูญเสียเงินมหาศาลไปกับบุหรี่และเริ่มมี โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ดังนั้น พอเลิกได้จึงอยากจะแบ่งปันกับลูกน้องให้เลิกบุหรี่ เริ่มจากการชักชวน และเอาเงินส่วนตัวให้เป็นรางวัลหากมีใครเลิกบุหรี่ได้และก็ทำจนสำเร็จ จนกระทั่งย้ายมาบริษัทนี้และอยากพัฒนาโรงงานและชุมชนที่บ้าน การส่งเสริมสุขภาพก็เช่นกัน เห็นคนใกล้ตัวสูบบุหรี่ ลูกน้องเริ่มสูบบุหรี่ ก็ชักชวนให้เลิกสูบ ซึ่งมีโดนต่อต้านจากคนอื่นๆ แต่ก็ ยังไม่ลดละ


"สำหรับการทำงาน มีคณะกรรมการโครงการมาร่วมกันดำเนินงาน มีการสำรวจและเก็บสถิติ บุหรี่ เหล้า รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีการณรงค์ อบรมให้ความรู้ เพราะพนักงานส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งทางบริษัทมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยให้พนักงานไปตรวจสุขภาพ จนพบว่า พนักงานส่วนใหญ่เริ่มมีความดันสูง ซึ่งค่อนข้างวิกฤต หลังเริ่มดำเนินกิจกรรม ที่ช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสุขภาพดี ปีที่แล้วจึงมีคนลาป่วยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น"


ด้าน ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ให้ข้อแนะนำถึงกลไกการทำงานเรื่องปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสถานประกอบการในประเทศไทย ว่า ด้วยบริบทของสถานประกอบการเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างจะปิด ดังนั้นในการดำเนินกิจกรรมหรือปรับพฤติกรรมของพนักงานค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือต้องเอาการส่งเสริมสุขภาพเข้าไปใส่ไว้ในงานประจำและสร้างให้เป็นนิสัย


"ฝากถึงสถานประกอบการให้ร่วม ส่งเสริมสุขภาพพนักงาน โดยทำให้ ครบวงจร ทั้ง 4 กระบวนการได้แก่ 1.ทำเป็นองค์รวม โดยทำตามกฎหมาย สภาพแวดล้อมต้องปลอดบุหรี่ การให้ความรู้ โดยให้ทั้งคนที่มีและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และ มีกิจกรรมสนับสนุนให้เลิกพฤติกรรมสี่ยงและเสริมพฤติกรรมดี 2.ทำอย่างเป็นระบบ โดยมี นโยบาย เป้าหมาย และตัววัดความสำเร็จที่ชัดเจน รวมทั้งมีการวิเคราะห์ปัญหาและกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอน และ มีการประเมินผลที่ชัดเจนเช่นกัน 3.ทำอย่างมีส่วนร่วม ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง จากผู้บริหารในทุกกระบวนการในการทำงานร่วมกันกับคณะทำงานและพนักงาน และ 4.ทำอย่างต่อเนื่องทั้ง 4กระบวนการนี้ ถือเป็นกลไกในการทำงานที่สถานประกอบสามารถนำไปปฏิบัติได้" ดร.ศันสนีย์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code