ก้าวข้ามกับดักผู้บริโภค เพื่อสุขในสังคมอย่างแท้จริง
เน้นมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการคุ้มครอง
ในเชิงหลักการทุกคนเห็นตรงกันว่าผู้บริโภคมีความสำคัญและการคุ้มครองผู้บริโภคคือเป็นสุดยอดของการดูแลประชาชน ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม
ดร.สมศักดิ์ เลิศบรรณพงศ์ กล่าวเปิดงาน สัมมนาการพัฒนารูปแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัดว่า “ในต่างประเทศการคุ้มครองผู้บริโภคไปถึงการรับประกันความพอใจ(salisfaction guarantee)”กล่าวคือ ซื้อของเอาไปลองใช้ไม่พอใจนำมาเปลี่ยนได้ ซึ่งแน่นอนว่า ได้ก้าวข้ามเรื่องการรับประกันคุณภาพ(quality guarantee) นอกจากนี้หลายแหล่งได้ไปถึงการรับประกันราคา(low price guarantee) โดยโฆษณาว่าของที่ซื้อหากที่ใดขายราคาต่ำกว่านี้ให้เอามาคืนได้
ศาสตราจารย์จรัญ ภักดีธนากุล กล่าวถึง Consumer Supremacy คือ ผู้บริโภคต้องจะมีอำนาจอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามอาจารย์จรัญ ได้เคยสะท้อนความรู้สึกในการบรรยายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของผู้บริโภคไทยยังอยู่ในสภาพ “ผู้บริโภคจนตรอก”
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหลายฉบับตกอยู่ใน “วังวน” ยังไม่ได้ผุดเกิด เช่น ร่างพ.ร.บ. ความรับติดต่อความเสียหายจากสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัยร่าง พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค ฯลฯ ความหวังที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเด็กจากอาหาร หรือ ขนมที่มี ไขมัน น้ำตาล และ เกลือสูง การโฆษณาโทรทัศน์แจกแถมของที่โน้มน้าวจูงใจเด็กให้บริโภคขนมเหล่านี้ยังไม่มีการแก้ไขโดยการอ้างข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อเสนอที่จะให้มีสัญลักษณ์บนฉลากขนมเพื่อเป็นการเตือนสติเด็กก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ ผู้บริโภคโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคจำนวนมากพบอุปสรรคปัญหาการร้องเรียนที่กลไกระดับจังหวัดยังไม่มีประสิทธิภาพ
กล่าวได้ว่า “กับดัก” เหล่านี้ทำให้เกิดวังวนที่ทำให้ผู้บริโภคเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง และอาจ จนตรอกไปในที่สุด
การก้าวข้ามกับดักผู้บริโภคจำเป็นต้องมีกลไกและกลวิธีที่จะกระจายอำนาจให้ผู้บริโภค น่าเสียดายว่าตามมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ได้ถูกยกเลิกไป ได้กำหนดให้มีการสร้างกลไกเสริมความเข้มแข็งของผู้บริโภค โดยบัญญัติให้มี “องค์การอิสระผู้บริโภค” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของเจตนารมย์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมผู้บริโภคให้มีโอกาสก้าวพ้นกับดักผู้บริโภค
จุดแข็งขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านมาคือ การเติบโตท่ามกลางทุกข์ของผู้บริโภคทั้งปัญหาเชิงบุคคลและปัญหาเชิงระบบ การริเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งโจทย์และแสวงวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ การยืดหยัดต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และ การยกระดับปรับเปลี่ยนกลวิธีสร้างพื้นที่ของผู้บริโภคในสังคม ถือเป็นการปฏิบัติการของขบวนการผู้บริโภคที่จะสลายกับดักที่กักขังพลังของผู้บริโภคที่ถูกจำกัดอยู่
แม้จะยอมรับว่าการได้มาซึ่งอำนาจของผู้บริโภคที่จะก้าวทันกับดักและอุปสรรคขวากหนามจะต้องดำเนินการด้วยตัวของผู้บริโภคเอง แต่ในขณะที่รัฐมีอำนาจมากมายมหาศาลจึงควรมีการเรียกร้องให้รัฐกระจายอำนาคให้ผู้บริโภคด้วยการสร้างกลไกส่งเสริมให้เกิดขบวนการของผู้บริโภคที่มีจุหมายเพื่อสร้างสุขสาธารณะ ทำให้สถาบันผู้บริโภคภาคประชาชนเติบโตเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคและสังคมไทย
วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากลจึงควรถือเป็นโอกาสทบทวนภารกิจทั้งเฉพาะหน้าต้องเร่งรัดการสร้างเวทีเพื่อเปิดพื้นที่ของผู้บริโภคด้วย “กลไกองค์การอิสระผู้บริโภค” ให้สำเร็จ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) และ รัฐบาลที่ประกาศ เจตนารมย์ว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนต้องร่วมมือกันทำเรื่องที่ทำไม่ได้ในรัฐบาลทุนนิยมสุดโต่งให้เกิดขึ้นให้ได้
นอกจากนี้ในขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขบวนการผู้บริโภคจะต้องแสดงเจตนารมย์อย่างแข็งขันที่จะทำให้ผู้บริโภคมีบทบาท อำนาจหน้าที่ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร) ทุกท่านจะต้องสนับสนุนการบัญญัติบทบาท อำนาจ หน้าที่ และ กลไกการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน เป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคไทยจะก้าวไปข้างหน้าพ้นจากวังวนและกับดักทั้งหลายในปัจจุบัน
ในภารกิจระยะยาวขบวนการผู้บริโภคจะต้องมีส่วนเข้ามากำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสร้างสุขสาธารณะของผู้บริโภคในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:22-07-51