กินไม่ถูกหลัก “อ้วน เสี่ยงมะเร็ง”
นักโภชนาการ ชี้ กินไม่ถูกเสี่ยงภัย อ้วน-เสี่ยงมะเร็ง เผยไทยนำเข้าอาหารปีละกว่า 1.5 แสนล้าน แต่กลับดูแลความปลอดภัยไม่ได้เท่ามาตรฐานส่งออก เร่งปฏิรูปอาหารทั้งระบบ
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องอาหารของไทยขณะนี้มีอยู่ 2 ด้าน คือ สารพิษที่เจือปนอยู่ในอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัญหาสารพิษที่เจือปนในอาหารพบบ่อยมาก แต่สามารถแก้ไขได้ เพราะทราบดีว่าอาหารบางอย่างก็อาจเกิดผลเสียได้ เช่น อาหารปิ้ง ย่าง ทอด ดังนั้น ควรปรับการรับประทานให้สมดุล เช่น การทานข้าวที่มีสีกับเนื้อสัตว์ หรือผักผลไม้อย่างเหมาะสม หลักการง่ายที่สุดคือ ใน 1 มื้อต้องหลากหลาย และหลากสี อาหารที่สมดุลกันก็จะทำหน้าที่ล้างพิษในตัวเอง สำหรับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบันคนไทยประสบปัญหาโภชนาการเกินมากกว่า ดูได้จากจำนวนประชากรที่น้ำหนักเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“มีงานวิจัยพบว่า คนอ้วนจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าคนน้ำหนักปกติ และยังพบว่า การขาดสารอาหารบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคได้ เช่น การขาดใยอาหาร ทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนการขาดวิตามิน และเกลือแร่บางชนิด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพราะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์ แบ่งตัวได้ไม่ดี ความสมดุลและเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ การให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันป้องกันตัวเองได้” รศ.ดร.แก้ว กล่าว
ด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้ สถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าอาหารปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่มีมาตรการการควบคุมดูแลเรื่องมาตรฐานในอาหารนำเข้า คนไทยจึงได้รับการดูแลความปลอดภัยทางอาหารน้อยมาก ดังนั้น ควรมีการปฏิรูประบบอาหารของประเทศไทย ด้วยการเพิ่มศักยภาพ แก้ปัญหาเชิงระบบ เชิงคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาซ้ำซากขึ้นเนื่องจากเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพไม่เพียงพอ จำนวนสารพิษหรืออันตรายมีมากกว่าชุดทดสอบที่ใช้อยู่
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ นสธ.ร่วมกับ สสส.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดประชุม “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูประบบอาหารปลอดภัย” ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ เพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ นักโภชนาการ และกระทรวงสาธารณสุข หาทางออกของปัญหาร่วมกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
Update:11-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่