‘กินเจ’ ปลอดภัย อาหารไร้สารพิษตกค้าง
เตือนประชาชนช่วงเทศกาลกินเจ ระวังสารพิษตกค้างในอาหาร หากเข้าสู่ร่างกายมีอันตรายถึงชีวิต เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เทศกาลกินเจในปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15-23 ตุลาคม 2555 อาหารที่นิยมรับประทานสำหรับผู้กินเจในช่วงเทศกาลกินเจส่วนใหญ่ปรับปรุงโดยมีการใส่ผักแห้งหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม ซึ่งมักมีการใช้สารฟอกขาวเพื่อป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ รา บัคเตรี รวมทั้งยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล
สารฟอกขาวที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulphur dioxide) ซึ่งเป็นสารเคมีตัวหนึ่งในกลุ่มซัลไไฟตืที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หากร่างกายได้รับซัลเฟอรืไดออกไซด์ในปริมาณที่มากเกินกว่าค่าความปลอดภัยอาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้แพ้สารนี้ คือ ทำให้หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อุจจาระร่วง เป็นลมพิษ ความดัน โลหิตต่ำ อาจช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
คณะกรรมการ jecfa (joint fao/who expert committee on food additives) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดค่า adi (acceptable daily intake) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์เท่ากับ 0.7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคต่อวันแล้วไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติกับผู้บริโภค
จากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏบิติการเพื่อเฝ้าระวังของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ พบการตกค้างของสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพืชและผักแห้งดังกล่าวอยู่เสมอโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ในปี พ.ศ.2555 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้สำรวจพืชและผักแห้งเหล่านี้ โดยเก็บตัวอย่างเก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอมตรวจวิเคราะห์รวม 57 ตัวอย่าง พบว่า มีการตกค้างของสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตัวอย่างเหล่านี้ โดยเฉพาะดอกไม้จีน และเยื่อไผ่ พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงเกินมาตรฐานตามที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ได้ศึกษาวิธีการลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพืชและผักแห้ง เพื่อความปลอดภัยก่อนนำมาประกอบอาหาร พบว่า การนำดอกไม้จีนมาล้างน้ำสะอาด และเห็ดหูหนูขาวนำมาล้างน้ำแล้วลวกในน้ำเดือด 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหาร สามารถลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 90
สำหรับเม็ดเก๋ากี้ ล้างด้วยน้ำประปาในอัตราส่วน 1: 200 โดยน้ำหนัก (เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตร) จำนวน 3 ครั้ง แล้วลวกด้วยน้ำร้อนในอัตราส่วนเดียวกัน ก่อนนำไปปรุงโดยการต้มกับน้ำอัตนาส่วน 1: 50 โดยน้ำหนัก (เก๋ากี้ 10 กรัม ต่อน้ำครึ่งลิตร) พบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อเก๋ากี้ลดลงร้อยละ 98 เมื่อเปียบเทียบกับตัวอย่างเก๋ากี้ที่ไม่ได้ล้างก่อนต้ม วิธีการดังกล่าวสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพอาหารเจ บริเวณซอยเล่งบ่วยเอี๊ยะ (เยาวราช ซ.6) เขตสัมพันธ์วงศ์ เพื่อเป็นการคุ้มครองและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเลือกซื้ออาหารเจที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ซึ่งเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานเทศกาลงานเจเยาวราชจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรราถนนเยาวราช
สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร ตรวจหาสารบอแร็กซ์ในลูกชิ้นเจ หมี่กึง ตรวจหาสารฟอร์มาลีนในเห็ดฟาง เห็ดหูหนู ตรวจหากรดซาลิซิลิค (สารกันรา) ในอาหารดอง อาทิ ผักกาดดองหวาน ผักกาดดองเปรี้ยว ผักกาดดองเค็ม บ๊วยดอง มะนาวดอง กระเทียมดอง และขิงดอง ตรวจหาสารฟอกขาวในถั่วงอก ของซอย ตรวจหายาฆ่าแมลงในผักต่างๆ เช่น ผักคะน้า ผักกาด หอม ผักกวางตุ้ง ผักปวยเล้ง กะหล่ำปลี รวมถึงมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจากอาหารมือ ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุง ประกอบอาหารด้วย
ช่วงเทศกาลกินเจจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยว ลิ้มรสและเลือกซื้ออาหารเจจากย่านเยาวราชไปรับประทานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร 37 ตัวอย่าง ยังไม่พบสารปนเปื้อนแต่อย่างใด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก