กิจกรรมผ่อนคลาย ดีต่อผู้ป่วยอย่างไร

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก : คู่มือสำหรับประชาชน “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)” โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


กิจกรรมผ่อนคลาย ดีต่อผู้ป่วยอย่างไร thaihealth


‘ป่วยกาย แต่ต้องไม่ป่วยใจ’ เพราะหากร่างกายป่วยและจิตใจป่วยตามไปด้วยแล้ว ย่อมยากที่จะกู้คืน


ในบางครั้งที่มีคนป่วย เรามักมุ่งความสำคัญไปที่การรักษาอาการ จนบางครั้งอาจหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้วคนที่กำลังป่วยเขาอาจจะอยากทำอะไรนอกเหนือจากการนอนอยู่บนเตียงก็ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ หากิจกรรมการผ่อนคลายให้ผู้ป่วยค่ะ


การผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ป่วย ถือเป็นส่วนที่จะช่วยประคับประคองอารมณ์ จิตใจ ความรู้สึกของผู้ป่วยให้สงบ และเป็นการชักจูงให้ผู้ป่วยออกจากความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานได้


การเลือกกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก และเหมาะสมกับปัจจัยในด้านต่างๆ ที่ห้ามลืมเลยนั่นก็คือ ไม่ยัดเยียดวิธีการหรือความเชื่อของตัวเราเป็นบรรทัดฐาน เรามีหน้าที่เพียงแนะนำและให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเลือกกิจกรรมต่างๆ เอง


ในวันนี้ทีมเว็บ สสส. จึงมีกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยมาแนะนำให้นำไปปรับใช้กันค่ะ


 ดนตรีบำบัด >> เปิดดนตรีแนวที่ผู้ป่วยชอบ (หากไม่มีเพลงที่ชอบเป็นพิเศษอาจเปิดดนตรีบรรเลง คลาสสิค หรือเสียงจากธรรมชาติ) อาจร้องคลอ หรือชวนเพื่อนๆ ญาติๆ มาร้องร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นก็ได้


 การนวดและสัมผัส >> เป็นการสื่อสารความรู้สึกที่ไร้คำพูด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย การนวดช่วยให้กล้ามเนื้อที่ยึดเกร็งได้คลาย เมื่อกล้ามเนื้อได้คลายความเจ็บปวดจะบรรเทา แต่ต้องระวังไม่นวดในบริเวณที่มีอาการปวด


 ทำงานอดิเรก >> ต้องเป็นกิจกรรมที่ออกแรงไม่มากจะช่วยสร้างความเพลิดเพลิน ช่วยให้ผู้ป่วยเว้นจากการคิดฟุ้งซ่าน หรือจะลองเปลี่ยนบรรยากาศเดินเล่นรอบๆ บ้านก็ได้เช่นกัน


 ทำงานศิลปะ >> การวาดรูป ระบายสี ปั้นดิน เป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกต่างๆ ออกมา ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองมากขึ้น โดยในขณะที่สร้างผลงานศิลปะนั้นเป็นช่วงเวลาที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยแลกเปลี่ยนความรู้สึกต่างๆ ออกมาได้


 ชมภาพยนตร์ >> ภาพยนตร์ที่จรรโลงใจ มีเนื้อหาสนุกสนานและน่าสนใจ จะสามารถช่วยหันเหความสนใจจากความทุกข์ทรมานทางกายหรือความทุกข์ทางใจบางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ชั่วขณะ


 การอ่านและเขียนหนังสือ >> การเขียนจะช่วยระบายและถ่ายทอดความรู้สึกในใจของผู้ป่วยออกมาได้ ถือเป็นการปลดเปลื้องความทุกข์บางอย่างจนอาจทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น มีผู้ป่วยหลายคนได้ใช้เวลาขณะที่ป่วยเขียนเรื่องราวจนเป็นที่รู้จัก


 หัวเราะและมีอารมณ์ขัน >> อาจหาจากหนังตลก อ่านหนังสือตลก นึกหรือคุยถึงเรื่องขำๆ ที่เคยเกิดขึ้น เพราะการได้นั่งหัวเราะนาน 5-10 นาทีติดต่อกันร่างกายจะได้ขยับ เป็นการบริหารอวัยวะภายใน และกล้ามเนื้อใบหน้าไปในตัว


 ออกกำลังกาย >> หากผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ ควรกระตุ้นให้ได้ออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหมจนกลายเป็นอันตราย เช่น โยคะ รำชี่กง โดยเน้นการยืดเหยียดบริหารร่างกายบริเวณข้อต่อ


 สวดมนต์ สวดอ้อนวนถึงพระเจ้า หรือร้องเพลงสวด >> การน้อมใจให้ผู้ป่วยได้ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือจะช่วยให้ผู้ป่วยสงบมากขึ้น แต่หากผู้ป่วยไม่ได้ผูกพันกับความเชื่อหรือศาสนาใดๆ สามารถน้อมให้ระลึกถึงความดีงามที่เคยทำมา หรือสิ่งดีๆ ที่ภาคภูมิใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ความสงบพร้อมอิ่มใจในความดีของตน


ในการดูแลผู้ป่วย บางครั้งญาติหรือผู้ดูแลอาจเครียด พักผ่อนน้อย จนอาจทำให้เจ็บป่วยตามไปด้วย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าละเลยการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ กินอาหารดีมีประโยชน์ และออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ร่างกายเสื่อมโทรมนะคะ          

Shares:
QR Code :
QR Code