กำแพงหัวลำโพงเรืองยิ้ม
คุณเคยเห็นแหล่งเสื่อมโทรมที่อยู่รอบๆ ตัวไหมและนึกถึงอะไร ความคิดแรกคงไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น "มีกลิ่นเหม็นปัสสาวะ มีแต่ขยะ ตอนกลางคืนมืดน่ากลัว เป็นที่นอนของคนเร่ร่อน และเสี่ยงต่อการถูกจี้ปล้น" โดยเฉพาะยิ่งหากใครมีลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง ต้องสัญจรไปในบริเวณดังกล่าวทุกวัน ตอกย้ำความเป็นห่วงของครอบครัวเพิ่มเติมขึ้นไปอีก
ในหลายชุมชนมีพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็เลือกจะปล่อยวางให้การดูแลชีวิตและทรัพย์สินเป็นหน้าที่ส่วนตัวของชาวบ้านไป ขณะที่บางชุมชนกลับไม่นิ่งเฉย พร้อมมองเป็นเรื่องน่าเกียจและความอับอาย และรวบรวมพลังคนในชุมชนเข้ามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้พื้นที่เลวร้ายกลายเป็นพื้นที่ดีหรือสร้างสรรค์ขึ้น หรือกลายเป็นแหล่งที่เกิดประโยชน์แล้วมาทำกิจกรรมร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น โครงการ "รอง เมืองเรืองยิ้ม" พื้นที่สุขภาวะเพื่อเด็กในสภาวะยากลำบาก ตอน กำแพงหัวลำโพงเรืองยิ้ม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ จากภาคประชาชน เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังภาคตะวันออก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาพลิกฟื้นโฉมพื้นที่ในบริเวณกำแพงหัวลำโพงฝั่งถนนรองเมือง ชุมชนวัดดวงแข ถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ด้วยการล้างทำความสะอาดพร้อมทาสีกำแพงใหม่ให้มีความสวยงามและน่าสัญจรไปมาขึ้น
นางสาวประสพสุข โบราณมูล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) เล่าว่า มีผลการสำรวจของผู้คนในชุมชนวัดดวงแข ชุมชนใกล้เคียง และผู้คนสัญจรผ่านไปมาตามถนนรองเมือง (ข้างกำแพงหัวลำโพง) พบว่า จากคำถามที่ว่า "ถ้าเรานึกถึงกำแพงหัวลำโพงฝั่งถนนรองเมือง เราจะคิดถึงอะไรนอกจากรถไฟ?"
ผลที่ออกมาคือ มีกลิ่นเหม็นปัสสาวะ มีแต่ขยะ ตอนกลางคืนมืดน่ากลัว เป็นที่นอนของคนเร่ร่อน มีร้านค้าขายเยอะ ก๋วยเตี๋ยวไก่อร่อย เป็นที่วางของทำมาหากิน มีรถจอดข้างๆ เยอะ เสี่ยงต่อการถูกจี้ปล้น "แล้วอยากจะเห็นกำแพงหัวลำโพงเป็นอย่างไร" อยากให้สะอาด มีสีสันสดใส ของก็วางเป็นระเบียบ ร้านค้าสวยงาม กลางคืนก็สว่าง น่าเดินเล่น มีคนเดินมาเที่ยว อยากให้ปลอดภัย"
เมื่อรู้โจทย์เช่นนี้แล้ว มพด.จึงได้ดำเนินโครงการทันที โดยประสานความร่วมมือต่างๆ จากภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มแกนนำเด็ก เยาวชน และชาวชุมชนวัดดวงแข ชุมชนแฟลตรถไฟ และชุมชนตรอกสลักหิน พร้อมด้วยเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ มาช่วยล้างและทำความสะอาดกำแพง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของเขตปทุมวัน กทม. มาช่วยฉีดน้ำ
วันที่ 29 มิ.ย. อาสาสมัครจากเครือข่ายธนาคารจิตอาสา เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังภาคตะวันออก เด็กจากเดอะฮัพ ฮอตไลน์สายเด็ก อาสาสมัครทั่วไป นักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา รร.เตรียมอุดมศึกษา รวม 117 คน มาช่วยทาสีรองพื้นจำนวน 3 รอบ
ต่อด้วยวันที่ 1-2 ก.ค. มีการลงลายเส้นภาพวาดกำแพงของนักศึกษาครุศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมัณฑนศิลป์ เอกประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เอกวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เพื่อเตรียมลงสีในวันที่ 5-7 ก.ค.57 โดยจะมีอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรม และเก็บรายละเอียดการลงสีในวันที่ 8-9 ก.ค. อีกครั้ง ทั้งนี้ หากใครที่มีความสนใจหรือมีจิตอาสาสามารถมาร่วมกิจกรรมนี้ได้
นางสาวประสพสุขกล่าวต่อว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับต่อไปคือพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ สวยงาม สดใส ปลอดภัย และเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของเด็ก เยาวชน ผู้คนชุมชนในย่านรองเมือง รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ใช้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง
"ที่สำคัญสุดจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงาน ในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะย่านถนนรองเมืองให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ในเรื่องอื่นๆ ต่อไป และ มพด.ก็พร้อมจะผลักดันโครงการดีๆ ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศต่อไปด้วย"
หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน หากปล่อยให้พื้นที่ในชุมชนเป็นแหล่งเสื่อมโทรมต่อไปโดยไม่ทำอะไร ก็จะพบปัญหามากมาย ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ทำงานในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ สามารถยืนยันได้ว่าประการแรกคือ เด็กมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง ขาดทักษะสังคมอยู่ร่วมกับคนอื่นอันเนื่องจากถูกทอดทิ้งทั้งร่างกายและจิตใจ
ยังพบว่าครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ได้เป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก ไม่ได้สั่งสอน อันเนื่องจากการดิ้นรนทำมาหากิน เด็กๆ จึงถูกทอดทิ้งให้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทั้งยาเสพติด อบายมุข แหล่งมั่วสุมมอมเมาต่างๆ พื้นที่ที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และเท่าทันสังคมอย่างต่อเนื่องยังมีน้อย
ประการต่อมาที่พบคือ ลักษณะที่อยู่อาศัยทางกายภาพไม่เหมาะสม ระบบจัดการการเก็บขยะและการระบายน้ำเสียยังไม่เหมาะสม จึงเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ บางพื้นที่แสงแดดเข้าไม่ถึง มีกลิ่นเหม็นอับ ส่งผลต่อสุขภาพกายของเด็กและผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ เช่น เด็กจะเป็นไข้หวัดหายช้า เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อต่างๆ
ประการสุดท้ายคือ สภาพชุมชนเป็นชุมชนเคลื่อนย้ายสูง มีผู้คนหมุนเวียนเข้ามาอยู่ มีพื้นที่มุมอับเยอะ จึงมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
"บุคคลกลุ่มนี้จึงต้องการพื้นที่ดี ที่สะอาด ปลอดภัย สร้างสรรค์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ได้ปลดปล่อย บำบัด เยียวยา สร้างการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ทักษะสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และเท่าทันต่อสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนไป" หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเด็ก มดพ. ระบุ
ชุมชนวัดดวงแขถือเป็นตัวอย่างในการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมขึ้นมาแทน ดังนั้นหากทุกคนใส่ใจและช่วยกันดูแลสภาวะรอบตัว สุขภาวะที่น่าพึงใจก็จะเกิดขึ้นได้ถ้วนทั่วกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากมูลนิธิเพิ่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)