กำจัดยุงลายช่วงฤดูฝน ยึดหลัก 3 เก็บ

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข


กำจัดยุงลายช่วงฤดูฝน ยึดหลัก 3 เก็บ thaihealth


แฟ้มภาพ


นายกรัฐมนตรี นำทีมส่องสำรวจลูกน้ำยุงลาย พร้อมเชิญชวนประชาชนกำจัดยุงลายช่วงฤดูฝน ครึ่งปีพบผู้ป่วย 2.2 หมื่นราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน แต่ผู้เสียชีวิตกลับเป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เน้นรณรงค์ในพื้นที่ 6 ร.และยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ลดป่วยตายโรคไข้เลือดออก


ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์ “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ลดป่วยตายโรคไข้เลือดออก” โดยนายกรัฐมนตรี นำทีมส่องสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่ทำงานบริเวณทำเนียบ พร้อมปล่อยปลาหางนกยูง ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในภาชนะอ่างบัวและพื้นที่ ที่มีน้ำขัง พร้อมกล่าวเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายรอบบริเวณบ้านและชุมชน


          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน โรคที่ยุงลายเป็นพาหะ อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงป่วยจากโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการ และทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการ ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก


          ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม – 26 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วย 22,539 ราย เสียชีวิต 29 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียนและผู้ป่วยเพิ่มเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนมากกลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป จากรายงานพบอีกว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โรคเลือด  และโรคทางระบบประสาท มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง


          นายแพทย์โอภาส กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ยังพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนสูงถึงร้อยละ 22.7 และดัชนีการพบลูกน้ำในภาชนะในสถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงแรม, วัด, โรงเรียน, โรงงาน, และโรงพยาบาล สูงถึงร้อยละ 18, 11, 5, 22, และ 2 ตามลำดับ


        กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ จับมือกับทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน)2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม  และ6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)


        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า มาตรการป้องกันโรคที่นำโดยยุงลาย คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก  “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา  

Shares:
QR Code :
QR Code