“กาแล”อาสาเยาวชนเหนือ”แกะรอย” ปัญหาโฉนดชุมชน

“สิทธิคนในเขา”

 

“กาแล”อาสาเยาวชนเหนือ”แกะรอย” ปัญหาโฉนดชุมชน

          กลุ่มเยาวชนรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน

 

          ปัญหาที่ดินในเขตป่าหรือภูเขาเป็นปัญหาซ้ำซากที่ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงจังโดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “โฉนดชุมชน” จนส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มชาวไทยภูเขา

 

          รัฐบาล “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศว่าจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรโดยเน้นให้นำที่ดินสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมมาจัดเป็นที่ทำกินโดยออกเป็นโฉนดชุมชนนั้น ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าจะสามารถป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันการกว้านซื้อ กักตุนที่ดิน ที่นับวันจะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนหรือคนต่างชาติไปทุกที

 

          “กาแล” เป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชน ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาคเหนือ อาทิ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก มหาวิทยานเรศวร วิทยาเขตพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น จ.เชียงใหม่ และมหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงร่วมกันจัดทำโครงการค่ายสร้างคน โกมลสร้างค่าย (ตอนโฉนดชุมชน สิทธิคนในเขา) เพื่อสะท้อนปัญหาสู่สังคม

 

          โดยสมาชิกกลุ่มราว 50 คน ออกค่ายอาสาเพื่อจัดเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21-27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเลือกพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านผาเยือง หมู่ 4 บ้านห้วยหินลาดนอก หมู่ 5 และบ้านห้วยหินลาดใน หมู่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่มีชนเผ่าปกากะญอ อาข่า ลีซอ ลาหู่ อาศัยอยู่ประมาณ 300  ครัวเรือน ประชากร 1,000 คน เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย เพราะชาวบ้านที่นี่ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และมีป่าชุมชนกว่า 1,000 ไร่ ที่พวกเขาร่วมกันต่อสู้หวงแหนมาอย่างยาวนาน

 

          สภาพหมู่บ้าน

 

          “สุริยัน ตื้อยศ” อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มกาแล กล่าวว่า กิจกรรมค่ายอาสาสำรวจปัญหาเรื่องโฉนดชุมชนและสิทธิของคนในเขตภูเขานั้นเป็นแนวคิดของสมาชิกกลุ่มที่มีมติร่วมกัน เพื่อผลักดันให้ปัญหานี้ได้รับการเผยแพร่และได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ 2 แสนบาท จาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ” (สสส.) และ “มูลนิธิโกมลคีมทอง”

 

          การออกค่ายจะศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ความหลากหลายทางพื้นที่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการชุมชน องค์ความรู้ชุมชน เป็นลักษณะของการจัดเก็บข้อมูล ศึกษาชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลปัญหาเรื่องโฉนดชุมชน และประเด็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนและภาครัฐ” สุริยันกล่าว

 

          ด้าน “วัฒนะ เกษมราษฎร์” อายุ 19 ปี ประธานค่าย กล่าวว่า ชุมชนชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 3 หมู่บ้าน มีลักษณะของการต่อสู้หวงแหนด้านธรรมชาติ ป้องกันและอนุรักษ์ผืนป่าที่เห็นเด่นชัด โดยวิถีชีวิตจะสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่ามาอย่างยาวนาน ทำให้ในพื้นที่ยังคงมีผืนป่าไม้ยืนต้นและพืชป่านานาชนิด อย่างที่พื้นที่อื่นๆ ไม่มี กระทั่งมีการประกาศเขตป่าสงวนโซนเอและเขตอุทยานทับซ้อนเข้ามาในพื้นที่ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างลำบากเพราะขาดที่ทำกินและถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่าทั้งที่พวกเขาเป็นผู้สร้างและหวงแหนไว้

 

          “ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ออกโฉนดชุมชนต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี แต่เนื่องด้วยมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ข้อเสนอต้องยุติและต้องเริ่มใหม่ในรัฐบาลถัดๆ มา กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ไม่เพียงต่อการส่งผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลต่อสังคมปัญหาในเรื่องมนุษยธรรมของคนที่ไม่เท่าเทียมกัน

 

          “การออกค่ายมุ่งหวังให้เกิดการศึกษาและเรียนรู้ในด้านความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มชาวไทยภูเขา คนในชนบทและคนพื้นราบให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ และที่สำคัญเป็นการเรียนรู้เรื่องโฉนดชุมชนที่คนในพื้นที่ถือเป็นปราชญ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีการศึกษาและสืบทอดจากประสบการณ์จริง กลุ่มสมาชิกค่ายจะไม่มีบทบาทในการดำเนินการให้ได้ แต่สิ่งที่ได้จะนำไปผลักดันให้ไปสู่การแก้ไข โดยเผยแพร่ในช่องทางที่กระทำได้หรือนำไปจัดนิทรรศการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ” นายวัฒนะกล่าว

 

          “เสาวภา เถาปัญญา” อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก สมาชิกค่าย กล่าวว่า การออกค่ายสมาชิกได้แบ่งทีมกันออกเป็น 3 โซน โดยแยกเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน ออกไปกินนอนกับชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดระยะเวลาการออกค่าย โดยแต่ละกลุ่มจะจัดเก็บข้อมูล

 

          “เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสออกค่ายในการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเป็นการออกค่ายในเชิงวิชาการเสียมากกว่า ทำให้สามารถมองสภาพสังคมอีกแง่มุมหนึ่ง มีมุมมองที่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้สภาพสังคมมีการบิดเบือนสูง โดยเป็นการเสพสื่อหรือรับฟังเพียงด้านเดียว ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่าย พัฒนาคน สะท้อนความเป็นจริงและทำประโยชน์ให้กับคนอื่นไม่เพียงแค่ตัวของตัวเอง” เสาวภากล่าว

 

          ด้าน “ปรีชา ศิริ” อายุ 56 ปี ผู้อาวุโสบ้านห้วยหินลาดใน กล่าวว่า ยินดีอย่างมากที่นักศึกษาหรือเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องวิถีชีวิตชุมชนและป่าชุมชน ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานมาเหลียวมอง ปกติกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เข้ามาในพื้นที่ เป็นการศึกษาเรื่องธรรมชาติเสียมากกว่า ซึ่งกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เองก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะเปรียบเสมือนห้องเรียนจริงของชีวิต แม้จะไม่เป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

 

          “คาดว่าหากข้อมูลที่เด็กๆ รับไป มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นหรือยังสถาบันอื่นๆ จะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของปัญหาโฉนดชุมชนและสิทธิของคนในพื้นที่สูง ส่วนของชาวบ้านยืนยันที่จะหวงแหนธรรมชาติสืบต่อไป แม้คนในเมืองหรือฝ่ายที่มีอำนาจวันนี้จะยังไม่เห็นความสำคัญก็ตาม” ปรีชากล่าว

 

          กลุ่มค่ายเยาวชนอาสา “กาแล” แม้จะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่ก็มีแนวคิดและความตั้งใจ ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: เว็บไซต์มติชน

 

 

 

update: 28-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code