กาฬสินธุ์เร่งควบคุม คางทูมระบาด
ที่มา: สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
ในพื้นที่ ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการรายงานไปยังจังหวัดเพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีผู้ล้มป่วยแล้วจำนวน 66 ราย เป็นครู 1 ราย
ว่าที่ร้อยตรีธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สหัสขันธ์ ทีมควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว (SSRT) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าสอบสวนโรคคางทูมที่พบมีการระบาดของโรคคางทูมในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ใน ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ โดยมีนักเรียนและครู ป่วยแล้วจำนวน 66 ราย เป็นคนในพื้นที่ 55 รายและนอกพื้นที่จำนวน 10 ราย และพบว่าสาเหตุของโรคมาจากการที่เด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดโดยเฉพาะวัคซีน MMR ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคคางทูม
ว่าที่ร้อยตรีธีระพล กล่าวว่า สำหรับโรคคางทูมที่พบว่าในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ ได้มีการรายงานไปยังจังหวัดเพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีผู้ล้มป่วยแล้วจำนวน 66 ราย เป็นครู 1 รายโดยเป็นคนในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ จำนวน 55 รายและนอกพื้นที่อย่าง อ.เมือง อ.สมเด็จ อ.หนองกุงศรี อีกจำนวน 10 ราย ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ควบคุมโรคของทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอ.สหัสขันธ์ สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 (สคร.) พบว่า สาเหตุของการเกิดโรคครั้งนี้มาจากการรับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดของเด็กวัย 3-12 ปี โดยวัคซีนที่เด็กไม่ได้รับการฉีดคือ MMR ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ โดยผู้ป่วยส่วนมากจะไม่ได้รับวัคซีนนี้ขณะเดียวกันยังมีผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีน MMR แต่ยังป่วยอยู่ทั้งนี้อาจจะมาจากผลพวงความสามารถป้องกันโรคในร้อยละ 95 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้สามารถควบคุมโรคได้อย่างสมบูรณ์ในระยะ 1 สัปดาห์ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม และเด็กก็เริ่มหายจากการเจ็บป่วยแล้วส่วนใหญ่ อีกทั้งระหว่างการเกิดโรคได้มีการกักกันผู้ป่วยออกจากกลุ่มและให้สถานศึกษาปิดการเรียนการสอนชั่วคราว จนถึงตอนนี้ก็ปิดภาคเรียนไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนการเปิดสอนภาคฤดูร้อนของโรงเรียนทาง สสอ.จะเข้ามาควบคุมการจัดการของโรงเรียนอีกครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและความปลอดภัยด้านสุขภาวะที่ดีของนักเรียนต่อไป
"นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทางพื้นที่โดยสาธารณสุขอำเภอรีเอกซเรย์เด็กอายุระหว่าง 3-12 ปี ว่าได้รับวัคซีนครบหรือไม่และให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่ยังไม่รับการฉีดให้ทั่วถึงและสังเกตโรคระบาดและควบคุมพื้นที่อย่างเข้มข้นไปอีก 50 วัน โดยทางฝ่ายปกครองจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกสำหรับการเข้าพื้นที่ของทางสาธารณสุข รวมถึงการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจของโรคคางทูมที่เป็นโรคระบาดไม่ร้ายแรง และการเฝ้าระวังป้องกันการติดต่อโดยเฉพาะการแนะนำให้แยกภาชนะใช้ร่วมกันกับผู้ป่วย การสัมผัสน้ำลายผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด" นายอำเภอสหัสขันธ์