“การใช้เรื่องเล่า” และ “กระบวนการกลุ่ม”
สองนวัตกรรมหลักสูตรการสอน ช่วยลดความต่างทางวัฒนธรรม
งานวิจัยล่าสุดในพื้นที่สามจังหวัดพบ “การใช้เรื่องเล่า” และ “กระบวนการกลุ่ม” ช่วยสร้างการยอมรับระหว่างนักเรียนต่างวัฒนธรรม แนะปรับใช้เป็นหลักสูตรเฉพาะ หวังผลสร้างความสมานฉันท์อย่างยั่งยืน
ด้วยความต่างในหลายด้านทางวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งศาสนา ภาษา ประเพณี ความเชื่อ ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่มคนมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมสามารถเข้าใจในความต่างของกันและกันจะสามารถช่วยลดอคติและยอมรับในความต่างทางวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งสันติสุขอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
ดังนั้น นักวิจัยในพื้นที่จึงได้ศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ในห้องเรียนที่มีนักเรียนต่างวัฒนธรรม โดยพบว่า “การใช้เรื่องเล่า” และ “การใช้กระบวนการกลุ่ม” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในชุดโครงการพหุวัฒนธรรมศึกษาได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้
เสริม “เรื่องเล่า” ในชั้นเรียน สานสัมพันธ์วัฒนธรรมที่แตกต่าง
งานวิจัยพบหลักสูตรการเรียนโดยใช้ “เรื่องเล่า” ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนต่างวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.ดวงมณี จงรักษ์ และคณะ จากภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สรุปผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้การเล่าเรื่องราวเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและยอมรับความหลากหมายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี” ว่าการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบการเล่าเรื่องราวที่นำมาใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จะทำให้นักเรียนต่างศาสนาในห้องเรียนเดียวกันสามารถเรียนรู้และยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรมได้ดีกว่าการใช้การเรียนการสอนแบบปกติ ซึ่งเป็นที่มั่นใจได้ว่าการใช้การเล่าเรื่องราวประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนชั้นประถมศึกษามีความตระหนักรู้ในวัฒนธรรม และยอมรับความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น
“วัยเด็กเป็นวัยที่ซึมซับความคิดและพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อมได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู เพื่อน รวมทั้งโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน วรรณกรรมสำหรับเด็ก นิทาน ดังนั้นการเล่าเรื่องราวที่ตัวละครแสดงทัศนคติเชิงบวกทางวัฒนธรรมจึงเป็นเสมือนสะพานช่วยเชื่อมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม และสามารถทำให้ชั้นเรียนกลายเป็นชุมชนที่มีเรื่องราวในการช่วยลดความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติได้ด้วย” รศ.ดร. ดวงมณี อธิบายและบอกอีกว่า
ผลการศึกษาวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดปัตตานี พบว่านักเรียนในห้องเรียนที่ใช้การเล่าเรื่องราวมีการตระหนักรู้และยอมรับในความหลากหลายในวัฒนธรรมสูงกว่าการทดลอง รวมทั้งสูงกว่านักเรียนในห้องเรียนปกติ
“คะแนนเฉลี่ยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้เรื่องเล่าประกอบหลักสูตรการเรียนการสอนจะช่วยสร้างการตระหนักรู้และยอมรับในวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น”
นักวิจัยยังบอกอีกว่า จากการสังเกตนักเรียนในแต่ละกลุ่มซึ่งคละกัน ทั้งนักเรียนไทยพุทธและนักเรียนไทยมุสลิมได้ทำกิจกรรมตั้งแต่ครั้งแรกจนจบ เด็กนักเรียนสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างราบรื่นและช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ซึ่งได้รับการประเมินร่วมกับคุณครูประจำชั้นของกลุ่มทดลองที่ได้กล่าวว่านักเรียนห้องทดลองเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่มเป็นระบบมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งที่เป็นผลงานที่ชัดเจนของนักเรียนคือการร่วมกันแต่งนิทานเพื่อความสามัคคีสมานฉันท์ได้จำนวน 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1) ถุงเนื้อของนายเงิน 2) เพื่อนสนิท 3) ขนมชิ้นหนึ่งกับเด็กชายสองคน 4) สง่ากับพากี 5) ครอบครัวอบอุ่น
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ยังให้ข้อเสนอแนะอีกว่าเพื่อให้ผลการวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จมากขึ้นเมื่อนำไปใช้จริง คณะครูในโรงเรียนและครูผู้นำแผนการใช้การเล่าเรื่องราวนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างของการตระหนักรู้และยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย
แตกต่างอย่างเข้าใจด้วย “กระบวนการกลุ่ม”
แนะพัฒนาการเรียนระดับประถมด้วยกระบวนการกลุ่มสร้างความเข้าใจในความแตกต่างของสังคมที่หลากหลาย
อาจารย์เพ็ญประภา ปริญญาพล นักวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้ทำการศึกษาเรื่อง “ประสิทธิผลของกระบวนการกลุ่มเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและการยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี”
จากการศึกษากับกลุ่มนักเรียนจำนวน 39 คน โดยเสริมกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียน เช่น การสร้างสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกการรู้จักตนเอง สอนการคิดเชิงวิเคราะห์ การสร้างความเข้าใจในโลกทัศน์ของผู้อื่น และการมีปฏิสัมพันธ์แบบร่วมมือ โดยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัยพบว่านักเรียนที่เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้และยอมรับวัฒนธรรมสูงกว่าก่อนการทดลอง อีกทั้งยังสูงกว่านักเรียนในห้องเรียนปกติ
“ความตระหนักรู้และยอมรับในวัฒนธรรมของเด็กนักเรียนในกลุ่มทดลองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และจากการสังเกตพบว่านักเรียนไทยพุทธ และนักเรียนไทยมุสลิมมีการทำงานร่วมมือในห้องเรียนกันเป็นอย่างดี เช่น ในกิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติของวัฒนธรรมไทยพุทธ และไทยมุสลิมนักเรียนจะช่วยกันคิดและนำเสนอด้วยการสลับบทบาทกัน นักเรียนไทยมุสลิมจะสวมบทบาทและจำลองรูปแบบวัฒนธรรมไทยพุทธ ส่วนนักเรียนไทยพุทธก็จะสวมบทบาทและจำลองรูปแบบวัฒนธรรมของไทยมุสลิมอย่างสมัครใจ”
แม้ว่างานวิจัยทั้งสองเรื่องจะมีแนวทางและวิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองเรื่องมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการยอมรับทางวัฒนธรรมแก่เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนอกจากผลงานวิจัยดังกล่าวแล้ว ชุดโครงการพหุวัฒนธรรมศึกษายังมีผลงานวิจัยอีกหลายเรื่อง
โครงการวิจัยเรื่อง “การใช้การเล่าเรื่องราวเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี”
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถมโดยใช้การเล่าเรื่องราว โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 54 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 27 คน คณะผู้วิจัยดำเนินการใช้การเล่าเรื่องราวในชั้นเรียนกับนักเรียนกลุ่มทดลองทั้งหมด 20 คาบ สัปดาห์ละ 2 คาบ คาบละ 50 นาที รวม 10 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการสอนการใช้เรื่องราวเพื่อการตระหนักรู้ในวัฒนธรรม 2) แบบสอบถามการตระหนักรู้วัฒนธรรม จำนวน 35 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .92 3) แบบสอบถามการยอมรับวัฒนธรรมและความหลากหลายของนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 24 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ t-test แบบ dependent, independent และสถิติ ancova
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนในห้องเรียนที่มีการใช้การเล่าเรื่องราวมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรม และความหลากหลายหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
2. นักเรียนในห้องเรียนปกติมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรมและความหลากหลายก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
3. นักเรียนในห้องเรียนที่มีการใช้การเล่าเรื่องราวมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรม และความหลากหลายสูงกว่านักเรียนในห้องเรียนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
|
โครงการวิจัยเรื่อ “ประสิทธิผลของกระบวนการกลุ่มเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและการยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี”
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของกระบวนการกลุ่มต่อการตระหนักรู้ในวัฒนธรรม และการยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถม โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งให้ครูประจำชั้นแต่ละห้องพิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่มีอิทธิพลกับกลุ่มเพื่อนจากทุกห้องเรียนได้จำนวน 39 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวน 19 และ 20 คนตามลำดับ
กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มนี้ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที – 1 ชั่วโมง รวมจำนวน 18 ครั้ง เครื่องที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมกระบวนการกลุ่มเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในวัฒนธรรมและการยอมรับความหลากหลายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี 2) แบบสอบถามการตระหนักรู้วัฒนธรรมจำนวน 35 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .92 3) แบบสอบถามการยอมรับวัฒนธรรมและความหลากหลายของนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 24 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ t-test แบบ dependent, independent และสถิติ ancova
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนที่เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้วัฒนธรรม และค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรมและความหลากหลายหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .005 ตามลำดับ
2. นักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแบบแบบสอบถามการตระหนักรู้วัฒนธรรมและค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรม และความหลากหลายก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
3. นักเรียนที่เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสอบถามการตระหนักรู้วัฒนธรรมและค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบสำรวจการยอมรับวัฒนธรรม และความหลากหลายสูงกว่านักเรียนในห้องเรียนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .005
|
ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้
update: 10-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่