การเเพทย์สมัยใหม่เปลี่ยนโลกผู้ป่วย HIV ให้สามารถมีลูกได้

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์


การเเพทย์สมัยใหม่เปลี่ยนโลกผู้ป่วย HIV ให้สามารถมีลูกได้ thaihealth


เเฟ้มภาพ


HIV หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต หลายครอบครัวที่พ่อแม่ติดเชื้อเอชไอวีแต่อยากมีลูก ในอดีตอาจจะรู้สึกหมดหวัง วิตกกังวล ถ้ามีลูกๆ ก็กลัวว่าลูกจะติดเชื้อ HIV ไปด้วย


ปัจจุบัน ด้วยวิธีจัดการทางการแพทย์สมัยใหม่ พ่อหรือแม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถมีลูกได้ โดยที่ลูกไม่ติดเชื้อ เมื่อไม่นานมานี้พบหญิงที่มีสามีเป็นผู้ติดเชื้อ ตั้งครรภ์แรกได้ 5 เดือน แต่ทั้งตัวเธอและลูกสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีใครติดเชื้อ HIV เรื่องราวของครอบครัวเธอแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ติดเชื้อ HIV คนอื่นๆ ที่อยากมีลูก พวกเขาควรทำอย่างไรบ้าง  ทีมข่าวฯ มีคำตอบจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื้อเอชไอวีในเด็ก ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขด้านวัคซีน และเอชไอวีในเด็ก


• ไวรัส HIV เมื่อรักษาจะเหมือน "กบจำศีล" ควบคุมมันได้ แต่มันพร้อมแพร่เชื้อ หากไม่ควบคุมด้วยยา


ศ.พญ.กุลกัญญา ยืนยันว่า พ่อหรือแม่ที่ติดเชื้อ HIV มีลูกได้อย่างปลอดภัย ไม่ติดเชื้อได้ นั่นเป็นเพราะยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ HIV ช่วยป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังคู่ของตน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ HIVจากกรณีการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ของมีคมหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก 


เอชไอวีไม่ใช่โรคที่น่ารังเกียจ เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยการกินยาไปตลอดชีวิต และถึงจะไม่มีวันหาย กลายเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมและจัดการให้มีชีวิตยืนยาวใกล้เคียงคนปกติได้


วิวัฒนาการการรักษา HIV เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2524-2538 เป็นช่วงที่ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผล ทำได้เพียงรักษาโรคติดเชื้อแทรกซ้อน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ HIV อายุสั้น ต่อมานับตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน มียาต้านไวรัสที่ได้ผล ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานกลับมาเป็นปกติ ทำงานทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนปกติได้โดยไม่มีอันตราย


กรณีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2559 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ว่า สามารถบรรลุเป้าหมายลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก จากร้อยละ 10.3 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.68 ในปี 2560 และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะดำเนินการให้อัตราลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2563


"เชื้อ HIV เมื่อใช้ยาต้านไวรัสจะกำจัดเชื้อได้จนตรวจไม่พบเชื้อในเลือดแล้ว แต่เชื้อจะยังอยู่เหมือนกบจำศีล จะซ่อนเร้นอยู่ในดีเอ็นเอของผู้ป่วย ถ้าหยุดกินยาต้าน เชื้อไวรัสก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และสามารถกลับมาและแพร่ต่อไปได้ แต่ถ้าคนติดเชื้อ รู้เร็ว รักษาไว กินยาต้านเชื้ออย่างมีวินัย ตรงเวลาทุกวันๆ เพื่อให้ร่างกายมียาควบคุมไวรัสไว้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยตลอด ปริมาณของเชื้อก็จะลดลงเหลือต่ำกว่า 40-50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อหนึ่งซีซีของเลือด หรือตรวจวัดไม่ได้ คนคนนั้นก็จะไม่แพร่เชื้อ สามีที่มีเชื้อปริมาณต่ำกว่า 40-50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อหนึ่งซีซีของเลือดนี้ แม้จะร่วมเพศกับภรรยาโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ภรรยาก็ไม่ติดเชื้อ และหากมีลูกๆ ก็จะไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าต้องการมีลูกอย่างปลอดภัย ต้องปรึกษาแพทย์และอยู่ในความดูแลของแพทย์"


• หมอแนะรีบฝากท้อง แม่หลายรายเพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ "ตอนฝากครรภ์"


การเข้ารับ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ศ.พญ.กุลกัญญา เปิดเผยกับทีมข่าวฯว่า ปัจจุบันยาต้านมีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยาสูงมากในสถานบริการสุขภาพภาครัฐ รับยาต้านไวรัส HIV ฟรีทุกสิทธิรักษาพยาบาล ทั้งบัตร 30 บาท ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าฝ่ายหญิงหรือชายเป็น หากอยากมีลูก สามารถไปวางแผนการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.รัฐ เกือบทุกที่ หากพบว่าติดเชื้อจะได้รับ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ก่อนที่จะตั้งครรภ์


หากแม่ไม่ได้กินยาต้านเชื้อจะส่งผลให้ลูกมีโอกาสติดเชื้อ HIV ได้ 3 ช่วง คือ 1.ระหว่างตั้งครรภ์ ตั้งแต่ลูกยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ กรณีนี้การติดเชื้อเกิดขึ้นไม่มาก 2.ระหว่างคลอดหรือใกล้ๆ คลอด เพราะมดลูกบีบเกร็งเพื่อให้ทารกออกมา ทารกมีโอกาสสัมผัสเลือดแม่ และสารคัดหลั่งในช่องคลอด ก็มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีผ่านเข้าทางเยื่อบุอ่อนของทารก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินอาหาร 3.ช่วงหลังคลอดที่ทารกดูดนมแม่ ถึงแม้ในน้ำนมจะมีเชื้อเอชไอวีไม่มาก แต่ทารกกินนมแม่ในปริมาณมากเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา เน้นย้ำว่า ทารกจะไม่ได้รับเชื้อ HIV เลย ถ้าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อได้รับการดูแลสุขภาพและยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ รวมทั้งให้ลูกงดนมแม่


"แม่บางคนรู้ว่าติดเชื้อก็ต่อเมื่อมาฝากครรภ์ เพราะต้องเจาะเลือดตรวจหาเชื้อซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นมาตรฐานการตรวจเลือดของหญิงตั้งครรภ์ทุกคน เมื่อไหร่ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะต้องให้กินยาต้านไวรัสทันที เพื่อไม่ให้ลูกในท้องติดเชื้อด้วย หากมาฝากท้องเร็ว รู้ผลไวโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อน้อยกว่า 1% ในบางครั้งเด็กรอดพ้นจากการติดเชื้อระหว่างอยู่ในท้อง แต่มาติดเชื้อช่วงใกล้คลอดหรือระหว่างคลอด เพราะมาฝากท้องช้า บางคนมาฝากตอนใกล้คลอด กินยาต้านไม่ทันแล้ว เพราะอย่างน้อยต้องกิน 4 สัปดาห์ จึงจะลดปริมาณไวรัสในแม่ และทำให้ลูกคลอดอย่างปลอดภัย หลังคลอดหมอจะไม่ให้กินนมแม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากนมแม่ กระทรวงสาธารณสุขจะมีนมผงให้กินฟรีจนอายุขวบครึ่ง"


• HIV ไม่น่ากลัว ที่จริงรักษาง่ายกว่าโรคเบาหวานด้วยซ้ำไป


ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติและลูกที่เกิดแทบไม่ติดเชื้อ หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ โดยต้องกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด    ศ.พญ.กุลกัญญา เน้นย้ำกับทีมข่าวฯ แนะให้แม่รีบมาฝากครรภ์โดยเร็ว เพื่อจะได้รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่หรือไม่ หากพบว่าติดเชื้อ ไม่ต้องกังวล ตกใจ รีบกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามคุณหมอสั่ง ทารกก็จะปลอดภัยไม่ติดเชื้อและครอบครัวก็จะแข็งแรงมีความสุข โรค HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ที่จริงรักษาง่ายกว่าโรคเบาหวานเสียอีก แต่ก็ไม่อยากให้ใครเป็นเอชไอวี แนะนำป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะป้องกันกามโรคอื่นๆ ได้ด้วย หรือ กินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือเพร็บ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP)


"พอรู้ว่าติดเชื้อ อย่าคิดมาก อย่าอาย ให้รีบรักษา ปัจจุบัน ยาต้านไวรัสดีขึ้นมาก กินยาต้านอย่างดีอย่างเดียว กดไวรัสไว้จนตรวจหาเชื้อไม่มี ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ และใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่งงาน มีคู่ครอง มีลูกได้ คนที่ยังไม่แต่งงาน ควรป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอย่าตีตราคนติดเชื้อ เพราะบางคนติดโดยไม่รู้ตัวจริงๆ"ศ.นพ.กุลกัญญา ผู้เชี่ยวชาญเอชไอวีในเด็กชี้แนะ

Shares:
QR Code :
QR Code