การออกกำลังกายในเด็กเล็ก

ที่มา : รศ.ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ดร.ชนากานต์ บุญบุรี หนังสืออยากสุขภาพดีต้องมี 3 อ. สำหรับเด็กเล็ก โครงการจัดการความรู้สุขภาพสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์ มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ภาพประกอบโดยแฟ้มภาพ


การออกกำลังกายในเด็กเล็ก thaihealth


หลักสำคัญสำหรับการออกกำลังกายในเด็กเล็ก คือ ต้องให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับกิจกรรมทางกายเหมือนเป็นการเล่น การออกกำลังกายในเด็กจึงต่างจากการออกกำลังกายในผู้ใหญ่ เด็ก ๆ จะคิดแต่เรื่องการเล่นสนุก จึงควรจัดกิจกรรมให้เด็กรู้สึกชอบ รู้สึกสนุกสนาน และเลือกกิจกรรมหรือการเล่น ตามความเหมาะสมกับวัย และพัฒนาการของเด็ก


หากเด็กไม่อยากออกกำลังกาย ไม่ต้องการเข้าร่วมในกิจกรรม หรือไม่มีความชอบกับกิจกรรมนั้น ๆ รู้สึกว่าถูกบังคับ ดังนั้นการออกกำลังกายในวัยเด็กจึงต้องมีความเหมาะสมตามพัฒนาการทางร่างกาย


1.วัยอนุบาล-เด็กเล็ก (อายุประมาณ 2-6 ปี)


เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อดีขึ้นตามลำดับ ชอบวิ่ง (เช่น การ วิ่งเล่นไล่จับ วิ่งเก็บของ เป็นต้น) ชอบการกระโดด (เช่น กระโดดจิงโจ้สองขา กระโดดกระต่ายขาเดียว กระโดดเชือก เป็นต้น) ชอบการโยน การขว้าง (เช่น ขว้างลูกบอล เล่นโยน รับลูกบอล) และขอบเตะลูกบอล ชอบกลิ้งม้วนตัว หรือการปีนป่ายเครื่องเล่นต่างๆ ขอบเล่นน้ำ ว่ายน้ำ ขี่จักรยานสามล้อ ฯลฯ


สำหรับเด็กในวัยนี้ไม่ควรให้ออกกำลังกายที่ตั้งกฎกติกา หรือมีระเบียบ ต้องแนะนำเด็กเสมอว่า เป็นการเล่น และเลือกที่เหมาะสมกับพัฒนาการ อาจคำนึงถึงความสนุกสนานและความต้องการของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป แต่ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม (แม้เด็กวัยนี้จะมีสายตา กล้ามเนื้อ การรับรู้ พัฒนาการดีขึ้น แต่ช่วงเด็กวัยนี้ การประสานงานระหว่างสมอง ตา กล้ามเนื้อ อาจจะยังไม่ดีเพียงพอ)


2.เด็กวัยประถม (อายุประมาณ 7-12 ปี)


เด็กส่วนใหญ่ในวัยประถมจะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ขึ้น สามารถจัดการเล่นที่มีความซับซ้อนเพิ่มกว่าเด็กวัยอนุบาล มีระเบียบ กติกา กฎการเล่นได้บ้าง แต่ต้องเข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือมีกติกามากไป จัดกิจกรรมที่เด็กมีประสบการณ์อยู่บ้างแล้วหรือถามความต้องการของเด็กว่าสนใจอะไรบ้าง และจัดกิจกรรมสนองความต้องการเพื่อฝึกทักษะให้ดีขึ้น เช่น จากกิจกรรมง่ายๆ ที่เคยมีพื้นฐานจากวัยอนุบาล เช่นการโยนลูกบอลให้ลงห่วง หรือตะกร้า


ควรส่งเสริมให้เด็กวัยประถมเล่นกีฬาหลากหลายประเภท เป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายทุกส่วน โดยใช้การเคลื่อนไหวร่างกายหลากหลายสลับกันไป เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน กระโดดเชือก หรือ ว่ายน้ำ เป็นต้น


การใช้กิจกรรมผ่านวิธีการเล่น จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีกล้ามเนื้ที่แข็งแรง ช่วยให้มีการทรงตัวดี คล่องแคล่ว และสุขภาพแข็งแรง ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวจะทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code