การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร

ที่มา : ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ Media


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร thaihealth


แฟ้มภาพ


การสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของลูกบ้าน หมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม ด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยสร้างสังคมสุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร 


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำงานขับเคลื่อนการควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพทั้งผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ โรงเรียนปลอดบุหรี่ สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ สถานประกอบการปลอดบุหรี่ วัดปลอดบุหรี่ ชายหาดปลอดบุหรี่ตลอดจนการขับเคลื่อนและผลักดันพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนไทยได้รับอากาศที่บริสุทธิ์


ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้านจัดสรร ก็หันมาให้ความสำคัญ และลุกขึ้นมาดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ด้วยตัวเองกันมากขึ้น เพราะมองว่าการสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของลูกบ้าน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยสร้างสังคมสุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียมได้


ตัวอย่างที่ดีของภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เช่น โครงการหมู่บ้านบุราสิริ รังสิต ที่มีการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ภายในหมู่บ้านไว้อย่างชัดเจน มีการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่บริเวณสโมสร สนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะของหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกบ้านผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่น เพื่อย้ำเตือนให้ลูกบ้านเห็นว่าสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่


ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ระบุ การสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของลูกค้า ใช้การโน้มน้าวใจให้ลดการสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างสังคมสุขภาวะภายในหมู่บ้านที่ดีขึ้นได้


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร thaihealth


คุณนฤมล อาภรณ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวถึงนโยบายและกฎระเบียบเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ ภายในโครงการหมู่บ้านบุราสิริ รังสิต ว่า ในฐานะเจ้าของ/ผู้ดูแลสถานที่ ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และควบคุมดูแลสถานที่ เพื่อไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ และยังให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ส่วนกลาง โดยยึดหลักที่ว่าลูกบ้านทุกคนควรจะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงเย็นที่มักจะมีเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่ออกกำลังกาย เข้ามาใช้งานพื้นที่ส่วนกลาง จึงได้รณรงค์ให้เป็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาพของคนที่รัก


นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังใช้กับการดูแลพื้นที่อาศัยในรูปแบบอื่นด้วย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้บริเวณโถงพักคอย ห้องหรือสถานที่สําหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน และทางเดินภายในอาคาร เป็น “เขตปลอดบุหรี่เฉพาะส่วนที่ระบุ” แต่ในฐานะเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่ก็ยังต้องการให้พื้นที่บริเวณอื่น ๆ ปลอดบุหรี่ด้วย เช่น ระเบียง ซึ่งลูกบ้านมักจะมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ในความเป็นจริง การสูบบุหรี่ที่ระเบียง ส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยห้องใกล้เคียงในเรื่องของกลิ่นและควันบุหรี่ลอยมาในอากาศ หรือหากทิ้งก้นบุหรี่ลงไปก็จะมีผลต่อความปลอดภัยในเรื่องของอัคคีภัยอีกด้วย จึงมีการรณรงค์เชิญชวนเรื่องการงดสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง หรือบางครั้งก็ยังมีการพูดคุยประเด็นนี้ระหว่างการประชุมใหญ่ของลูกบ้าน สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของลูกบ้าน ใช้การรณรงค์เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ลดการสูบบุหรี่ และอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการภายใต้การดูแลของบริษัทที่ดำเนินการตามนโยบายนี้ ทั้งในรูปแบบของคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร กว่า 300 โครงการ  


สิ่งที่อยากขอบคุณ คือ ความร่วมมือของลูกบ้านที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนและสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขและอยู่ในสังคมเดียวกันอย่างยั่งยืน ผู้จัดการหมู่บ้านบุราสิริ รังสิต  ระบุว่า ความร่วมมือของลูกบ้านคือสิ่งที่สำคัญในการรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีขึ้น


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร thaihealth


คุณมาลี นาคนก ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการ บริษัท พลัสพร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะผู้จัดการหมู่บ้านบุราสิริรังสิต กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการตามนโยบายห้ามสูบบุหรี่ของหมู่บ้านว่า ได้มีการรณรงค์และติดป้ายประชาสัมพันธ์เรื่องการห้ามสูบบุหรี่ บริเวณสนามเด็กเล่น สโมสร และสวนสาธารณะ ซึ่งหลังจากที่มีการติดป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์พบว่า การร้องเรียนเรื่องสูบบุหรี่ไม่มีให้พบเห็นอีกต่อไป โดยมองว่า ปัจจัยของความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความร่วมมือของลูกบ้าน และการเน้นย้ำไปยังกลุ่ม Supplier ที่ดูแลหมู่บ้าน ไม่ให้มีการสูบบุหรี่แต่หากต้องการสูบก็มีพื้นที่เฉพาะให้ซึ่งจะอยู่ตามมุมหรือพื้นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ พร้อมกันนี้ยังมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงสุขภาพของตนเองและทุกคน


ลูกบ้านหมู่บ้านบุราสิริ เห็นด้วยกับนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในหมู่บ้าน ชี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้ และมีผลดีต่อเด็กในอนาคต


นายพงศกร พัฒผล หนึ่งในตัวแทนลูกบ้าน กล่าวถึงมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะของหมู่บ้านว่า เป็นสิ่งที่ค่อนข้างดี โดยส่วนตัวคนในครอบครัวก็ไม่ได้สูบบุหรี่อยู่แล้ว เวลาที่อยู่ในหมู่บ้านจึงรู้สึกมีความปลอดภัย เพราะควันบุหรี่ส่งผลกระทบทั้งเรื่องกลิ่นและสุขภาพปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีลูกด้วยแล้วก็จะทำร้ายลูกด้วยอีก ดังนั้น นโยบายการห้ามสูบบุหรี่ในหมู่บ้านจึงถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ลูกได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ มีสภาพแวดล้อมช่วยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น และสิ่งที่อยากฝาก คือ อยากให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสถานที่ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้านที่ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากบุหรี่ด้วย


พร้อมมองว่า ปัจจุบันนี้แนวโน้มคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีมากขึ้น เมื่อมีลูกแล้วก็จะคำนึงถึงเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ซึ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องใหญ่ๆอย่าง PM2.5 ได้ แต่ทุกคนสามารถควบคุมเรื่องของควันบุหรี่ได้ หากผู้ปกครองเลิกได้ก็จะดีต่อตัวของบุตรหลานเอง


นักวิชาการอิสระมองว่า การสร้างสังคมที่ปลอดจากบุหรี่คือเรื่องที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากจะสร้างความยั่งยืนทางสุขภาวะของประชาชนที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร thaihealth


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระ ในฐานะลูกบ้าน กล่าวถึงมุมมองและความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะประเด็นที่องค์การอนามัยโลกกำหนดการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2565 ไว้ในเรื่อง “ยาสูบ : ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” ว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมมีปัจจัยที่เป็นภัยคุกคามมากมาย เช่น เรื่องของฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งการทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอาจจะเกินกว่าความสามารถของใครหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือ การลดปัจจัยที่ทำให้สภาพแวดล้อมแย่ลงจากการสูบบุหรี่ เพื่อทำให้สังคมไทยมีควันบุหรี่น้อยลง ทั้งควันบุหรี่มือหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเอง ควันบุหรี่มือสองที่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง และควันบุหรี่มือสามที่กลิ่้นติดไปยังเสื้อผ้าและเป็นอันตรายต่อลูกหลาน ดังนั้น วันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ช่วยกันลดควันบุหรี่เพื่อสุขภาวะของคนไทยที่ดีขึ้น


ขณะเดียวกันในฐานะลูกบ้าน มองว่า การมีนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในหมู่บ้านและการดูแลสถานที่ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบอย่างจริงจัง เป็นสิ่งควรให้ความชื่นชมไปยังผู้บริหารของนิติบุคคลซึ่งเป็นภาคเอกชน ถือเป็นการปกป้องสุขภาวะของลูกบ้านและสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น และน่าจะเป็นนโยบายของผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้มากขึ้นด้วย เพราะจะช่วยป้องกันทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ครอบคลุมไปถึงเรื่องของสุขภาวะทางกายและจิตใจสำหรับลูกบ้าน เชื่อว่าน่าจะเป็นที่พอใจต่อลูกบ้าน ที่เจ้าของสถานที่สามารถดูแลได้ครบองค์ประกอบในการดูแลทั้งกายภาพ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในบริบทหมู่บ้านจัดสรร thaihealth


พร้อมระบุว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ในหมู่บ้านได้สำเร็จ เกิดจากปัจจัย 2 ข้อ คือ การทำความเข้าใจกับคนที่จะเข้ามาเป็นลูกบ้านเกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ ก่อนที่จะรับกุญแจบ้าน เหมือนกับเรื่องของการจอดรถในที่สาธารณะ การมีสัตว์เลี้ยง หรือการส่งเสียงดังภายในหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับการย้ำเตือนเรื่องการสูบบุหรี่ของลูกบ้านด้วยปัจจัยทางกายภาพ คือ การติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน หรือการอยู่ด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัยของลูกบ้าน สามารถพูดคุยเพื่อขอร้องกันได้เมื่อมีการสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ก็ลอยไปไกลมาก และส่งผลกระทบกับพื้นที่หลายหลังคาเรือน ไม่ได้เฉพาะแค่บ้านที่อยู่ติดกันเท่านั้น โดยสรุปคือ การที่หมู่บ้านจะปลอดควันบุหรี่ได้ จะต้องมีการทำความตกลงกับลูกบ้านตั้งแต่ต้น และตัวลูกบ้านเองก็ต้องมีจิตสำนึกร่วมกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จะทำให้เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างยืนยาวและมีความสุข


ประเด็นที่อยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ คือ การทำให้พื้นที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปแบบของหมู่บ้าน และคอนโดมิเนียม เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ อยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของสถานที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ในที่อยู่อาศัย ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่ในบ้านหรือในห้องชุดของตัวเองจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ทางนิติบุคคลที่ดูแลก็สามารถออกกฏหรือขอความร่วมมือไม่ให้สูบบหรี่ในพื้นที่พักอาศัยได้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสงบสุขให้แก่ผู้พักอาศัยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข


นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรม ซึ่งจากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่บุคคลที่เริ่มต้นสูบบุหรี่นั้น มีการสูบมาตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ในช่วงการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมาจากการสูบบุหรี่ตามเพื่อน หรือเห็นคนในครอบครัวสูบ ไม่ได้เริ่มต้นจากตนเอง สะท้อนได้ว่า ปัจจัยการสูบบุหรี่ส่วนใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อม กว่าร้อยละ 80 ดังนั้น หากสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากบุหรี่ได้ นอกจากจะทำให้ผู้สูบเลิกได้ไปโดยปริยายแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่อีกด้วย 

Shares:
QR Code :
QR Code