การศึกษาแบบ’รวมศูนย์’แยกขาดสังคม
“รัฐใช้งบประมาณลงทุนการศึกษาไทยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก จากกว่า 200 ประเทศ แต่คุณภาพการศึกษาไทยกลับตกต่ำ สวนทางกับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไป เพราะโครงสร้างบริหารการศึกษาแบบรวมศูนย์ เป็นระบบปิด แยกขาดจากสังคม แยกขาดจากการพัฒนาชาติ แถมยังมีระบบประเมินอีกมากมายที่ทำให้ครูไม่มีเวลาว่างมาสอนหนังสือเด็กๆ หากปล่อยให้จัดการศึกษาไทยแบบนี้เป็นอันตรายแน่ครับ”
ถ้อยคำพรั่งพรูออกจากปาก “นพ.ศุภกร บัวสาย” ผู้จัดการ สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) หรือที่คุ้นชินกันในนาม “สสส. การศึกษา” นั่นเอง”9 ปี” ในตำแหน่ง “ผู้จัดการ สสส.” หรือ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” และ “3-4 ปี” ในตำแหน่ง “ผู้จัดการ สสค.” ทำให้วันนี้ของ “นพ.ศุภกร บัวสาย” ได้ซึมซับรับรู้ถึงสภาพปัญหาสังคมไทยในเกือบทุกมิติ รวมถึงมิติด้านการศึกษา ได้เห็นภาพปัญหาการศึกษาที่ “โคม่า” ด้วยโรคร้ายที่ยากจะเยียวยา หากการจัดการศึกษายัง “แบมือ” ขอให้รัฐมาช่วยจัดการศึกษาให้แต่เพียงฝ่ายเดียว
“งานด้านการศึกษาเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน การศึกษาต้องเป็นระบบเปิด ที่สามารถให้เครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนการศึกษาได้ ซึ่งจาก สสค.นำร่องปฏิรูปการเรียนรู้ใน 10 จังหวัด ทำให้มีความหวังมากขึ้นว่า การจัดการศึกษาแบบไม่แยกส่วนออกจากสังคมเท่านั้นถึงจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยได้”
เหนืออื่นใด การจัดการศึกษาที่ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศได้ คุณภาพของโรงเรียนต้องดี แต่คุณภาพของโรงเรียนจะดีได้ นั่นหมายถึง “มีครูคุณภาพดี” กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะโรงเรียนดีเด่นดังกว่า 100 โรงเรียนทั่วประเทศ เช่นในปัจจุบันเท่านั้น
“ครูจะมีคุณภาพดีต้องได้รับการพัฒนา ศักยภาพต่อเนื่อง เติมเต็มในจุดอ่อนเพื่อสร้างจุดแข็ง โดยเฉพาะครูที่สอนในแต่ละวิชาต้องมีความรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เคยสอนเครื่องจักสานก็สอนแบบเดิมๆ แต่ไม่ได้สอนทักษะการตลาดรองรับ เมื่อเด็กเรียนไปแล้วให้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง”
“นี่คือจุดบอดของการศึกษาไทยว่า ทำไมผลการทดสอบ PISA ของเด็กไทยอายุ 15 ปี เมื่อเทียบกับเด็กในประเทศ OECD ใน 3 วิชา (การอ่าน, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์) แล้ว พบว่าร้อยละ 52 ของเด็กไทยมีผลคะแนน PISA อยู่ในระดับ 1-2 หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของเด็กไทย ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว คะแนน PISA จะอยู่ในระดับ 5-6”
เขาเชื่อมั่นว่า จะทดสอบ PISA (เรียนแล้วสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้) กี่ครั้งก็ตาม คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยก็ยังคงตกต่ำเหมือนเดิม หากคนในสังคมไทยไม่ยอมเปลี่ยนความคิด ความเชื่อในแบบเดิมๆ ที่มอบความไว้วางใจให้รัฐเป็นฝ่ายรับผิดชอบจัดการศึกษาเพียงลำพัง
“ความจริงตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก แต่คุณภาพของคนต่างหากที่ตลาดแรงงานไม่พอใจ แต่ปัญหาเหล่านี้กำลังเริ่มได้รับการแก้ไข เมื่อมีผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเป็นกบฏ จัดการศึกษาเชิง
รุก เน้นเด็กเรียนจบอย่างมีคุณภาพ มีงานรับรองชัดเจน แต่ผู้บริหารโรงเรียนแบบนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด แถมโรงเรียนยังตกประเมิน นี่คือจุดบอดการศึกษาไทยต้องแก้ไขด่วน”
แต่การจะให้โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อรับผิดชอบการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพนั้น ในมุมมองของ “นพ.ศุภกร” บอกว่า เป็นเรื่องยากมาก เพราะติดเงื่อนไขโครงสร้างที่บีบเค้นยากจะหลุดจากกรอบเหล่านี้ได้ แต่การพัฒนาครูผู้สอนในแต่ละวิชาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างเป็นสุขและสร้างคนคุณภาพนั้น สามารถเกิดขึ้นได้
เพราะล่าสุด สสค.เตรียมจัด “เวิร์กช็อปการศึกษา” อย่างใกล้ชิด ในงาน “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2557 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ครูหรือผู้สนใจเวิร์กช็อปสุดคุ้ม ดูรายละเอียดได้ที่ www.QLF.or.th
นี่คือก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต