การละเล่นพื้นบ้าน สร้างสุขภาพสูงวัย
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ศิลปวัฒนธรรมของไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมาช้านาน มีความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นมรดกที่เราภาคภูมิใจในการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ลาวกระทบไม้ การละเล่นที่ใช้เสียงเพลงและไม้ไผ่ยาวเพียงสองลำ สร้างความสุขทั้งกาย ใจ และสร้างความสามัคคีในชุมชน
แม้สภาพที่ตั้งตามภูมิศาสตร์จะอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย แต่สำหรับชุมชนเชียงทอง ต.วังเจ้า อ.วังเจ้า จ.ตาก ผู้คนส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นชาวอีสานจากยโสธร สกล นคร ขอนแก่น ที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินเมื่อ 30 ปีก่อน
ลุงบุญมี มาตบุตร ประธานชมรมผู้สูง อายุเทศบาลตำบลวังเจ้า เล่าถึงอัตลักษณ์ของคนอีสาน ว่า รักสนุก สนุกสนานครื้นเครง ร้องรำทำเพลง ลาวกระทบไม้ เป็นการละเล่นมาตั้งแต่โบราณ มีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวสองลำ มีคนจับตีเคาะให้คนย่ำเท้าก้าวข้ามตามจังหวะ คนที่เล่นต้องเข้าใจจังหวะทั้งคนเคาะไม้ ส่วนคนก้าวข้ามก็ต้องอ่านจังหวะให้เป็น เพราะมีทั้งเร็ว ช้าสลับกัน จึงจะสนุก
ลาวกระทบไม้ ไม่เพียงแต่เป็นการ ละเล่นเพื่อความบันเทิง สนุกสนานเท่านั้น ยังมีมิติด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพราะทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหวของผู้เล่น คือการได้ใช้ร่างกายทุกส่วนประกอบ เช่นเดียวกับการใช้ไหวพริบชิงจังหวะก้าวข้ามให้ได้
แสงเดือน กันภัย แกนนำชุมชนเชียงทอง บอกว่า การละเล่นลาวกระทบไม้ของชาวเชียงทอง เริ่มไม่ค่อยเป็นที่นิยมมานานหลาย ปี จึงอยากรื้อฟื้นให้เป็นกิจกรรมหลักของชาวชุมชน โดยใช้กลุ่มชมรมผู้สูงอายุมาเป็นผู้ถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนในเวลาหลังเลิกเรียน ขณะเดียวกันได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด ทำโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ลาวกระทบไม้
โดยประโยชน์ของการละเล่นลาวกระทบไม้ ป้าแสงเดือน ซึ่งเป็นคณะทำงานโครงการ บอกว่า สุขภาพร่างกายของคนเล่นทุกคนจะมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งการเคาะไม้ การก้าวข้าม มีจังหวะช้า-เร็ว ให้ได้ออกแรง นอกจากนี้ยังฝึกสมาธิ เพราะต้องคอยจับจังหวะก้าวข้ามไม่ให้โดนไม้หนีบ เช่นเดียวกับประโยชน์ด้านจิตใจ ที่คณะผู้เล่นจะมีความสนุกสนาน ได้ยิ้มหัวเราะ มีความสุขทั้งกายใจ ได้มาเจอกัน จึงทำให้ความเครียดหายไป ผ่อนคลายมากขึ้น เกิดการเรียนรู้อยู่ร่วมกัน
ที่เห็นได้ชัดคือ ป้าเพียร อ่วมมี วัย 70 ปี เมื่อก่อนมีอาการปวดเข่า ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่พอมาทำกิจกรรมลาวกระทบไม้หลายครั้งก็พบว่าอาการดีขึ้น เพราะได้ยืดเส้นยืดสาย ส่วนอีกรายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากการสูญเสีย ไม่ชอบเข้าสังคม เมื่อแกนนำชมรมชักชวนมาทำกิจกรรมแล้วมีความสดชื่น ยิ้มแย้ม เข้ากับสังคมได้ และเปิดตัวเองมากกว่าแต่ก่อน
ส่วน พิทักษ์ สาคร นายกเทศ มนตรีตำบลวังเจ้า บอกว่า กิจกรรมนี้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและชุมชน ลูกไปชวนพ่อแม่มาเล่นด้วยกัน มีเวลาให้กัน เกิดเป็นความรักความอบอุ่นในครอบครัว และยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ของคนสามวัยในชุมชน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันสิ่งไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยลาวกระทบไม้เป็นการแสดงที่ทางตำบลใช้สำหรับโชว์เวลางานสำคัญ ๆ ด้วย
ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมจึงมีคุณค่าหลายมิติในด้านสังคม และสอดแทรกไว้ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดตาก ก็มีหลายชุมชนที่ใช้ศิลปะพื้นบ้านมาเป็นเครื่องมือสร้างเสริมกิจกรรมทางกาย เช่นชมรมผู้สูงอายุธรรมรักสามัคคี วัดไทยสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้จัดทำโครงการส่งด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กลองอืด เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่วมการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาไม่ให้สูญหาย
ซึ่งศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่ทรงคุณค่าในชุมชน เพราะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สู่เยาวชนให้สืบทอดศิลปะเหล่านี้ต่อไป.