การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ในไทย

เบื้องหลังความพยายาม

 

การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ในไทย

          ไม่ว่าเราจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาได้สำเร็จทันกับการระบาดระลอกสองของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่ จำนวนมากน้อย

 

          เพียงใด ก็ต้องถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย นั่นคือ 1) ในส่วนของประเทศไทยเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาได้ทั้งจากเชื้อตายและเชื้อเป็น 2) ในระดับสากลมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่ก้าวหน้าสูงทางเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย โดยผ่านตัวกลางคือองค์การอนามัยโลก และไทยเราได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ต่อไปให้แก่อินเดียด้วย ข้อสำคัญเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กันโดยไม่คิดมูลค่า หากทำไปด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ในภาวะที่ต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคร่วมกัน

 

          ความสำเร็จทั้งสองประการนี้จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นได้โดยยาก จากประสบการณ์ที่ประเทศไทยได้ตระเวนไปทั่วโลกเพื่อ “ซื้อ” เทคโนโลยีจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก แต่ไม่มีใครยอมขายให้และเมื่อตอนที่ประเทศไทยยอมแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้ครอบคลุมตัวผลิตภัณฑ์เมื่อปีพ.ศ. 2535 จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะกรรมวิธีการผลิต โดยยอมแก้ไขก่อนกำหนดที่ข้อตกลงทริปส์กำหนดไว้ถึง 8 ปี และประเทศที่บีบบังคับ

 

          ให้เราแก้ไขกฎหมายได้สัญญาว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาให้แก่เรา แต่ก็ไม่เคยมีประเทศใดหรือบริษัทใดทำตามสัญญาเลย ขนาดเราทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งมีเนื้อความในสัญญากำหนดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเขียนไว้ชัดเจน แต่ก็ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้

 

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีทั้งบุคคลและองค์กรจำนวนมากที่มีส่วนผลักดันอยู่ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง สมควรบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

 

          องค์กรแรกที่ควรกล่าวถึง คือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในความพยายาม

นี้ ได้แก่

 

          1) เป็นผู้ให้ทุนงวดแรกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดจากเชื้อตายได้

 

          2)เป็นผู้ให้คำแนะนำ และให้ทุนงวดสองอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้เราพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากชนิดเชื้อเป็นได้ ข้อสำคัญเป็นผู้ประสานงานและเป็นตัวกลางในการขอการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้จากรัสเซียจนประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ

 

          3) นอกจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันในการให้ทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว องค์การอนามัยโลกยังให้การสนับสนุนทางวิชาการอย่างแข็งขัน และทุ่มเทตั้งแต่ ก) เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเลือกที่ปรึกษา ข)ตอบคำถามทางเทคนิควิชาการมากมายผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นับร้อยฉบับ ค) เมื่อจำเป็นก็เป็นผู้ประสานจัดประชุมทางไกล(Teleconference) และร่วมในการประชุมด้วยหลายครั้ง

 

          4) ให้การสนับสนุนในการตรวจรับรองจีเอ็มพีของโรงงานกึ่งอุตสาหกรรมของเราที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยมอบหมายให้สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย เป็นผู้ดำเนินการให้อย่างแข็งขันและรวดเร็ว

 

          ความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลกครั้งนี้น่าจะเป็นการช่วยเหลือที่แข็งขันที่สุดที่ให้แก่ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการตั้งองค์การอนามัยโลกเป็นต้นมา เป็นการทุ่มเทช่วยเหลือจากหัวใจอย่างแท้จริง บางช่วงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่ระหว่างการลาหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งปกติเขาจะหยุดจริงๆ โดยมักจะเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในต่างประเทศ และมักจะปิดการติดต่อสื่อสารทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล แต่ครั้งนี้เขาไม่ปิดการติดต่อสื่อสารกับเรา และตอบข้อหารือต่างๆ อย่างฉับไวทุกครั้ง

 

          บุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยเหลือเรา คือ พญ.มารี พอล คินี ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีน (Director, Initiative for Vaccine Research) ขององค์การอนามัยโลก และคุณเดซี มาฟูเบลู (Daisy Mafubelu) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้ดูแลกลุ่มงานสุขภาพครอบครัวและชุมชน (Assistant Director General, Family and Community Health Cluster, WHO)

 

          นอกจากองค์การอนามัยโลกแล้ว องค์กรในต่างประเทศอีกองค์กรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในงานนี้ คือ สถาบันวิจัยการแพทย์ (Institute of Experimental Medicine หรือ IEM) ของรัสเซียโดยผู้อำนวยการ คือ ศาสตราจารย์ลาริสสา รูเดนโก (Professor Larissa Rudenko) และดอกเตอร์ไอรีนา วี. คิเซเลวา (Irina V. Kiseleva)สถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็นที่มีประสบการณ์ยาวนานที่สุดของโลก ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่รัฐวิสาหกิจในประเทศ คือ ไบโอเดียม(Biodiem) และบริษัทในต่างประเทศ คือ บริษัทโนบิลอน (Nobilon) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ไปแล้ว แต่ยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่เราโดยไม่คิดมูลค่าผ่านองค์การอนามัยโลก ข้อสำคัญยังมอบหมายให้ดอกเตอร์ไอรีนา เดินทางนำหัวเชื้อวัคซีนมาให้เรา และมาสอนเราโดยตรง รวมทั้งให้คำปรึกษาและตอบคำถามเราอย่างรวดเร็วฉับไว และอย่าง “มืออาชีพ” ที่มีประสบการณ์สูงอย่างแท้จริง

 

          สถาบันในประเทศหลายแห่งให้การสนับสนุนงานนี้ เริ่มตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่พิจารณาโครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมงบประมาณ 1,411 ล้านบาทอย่างมืออาชีพ ระบุเงื่อนไขและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเตรียมการและให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาในระยะยาวอย่างชัดเจน และมีประโยชน์มาก

 

          คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความร่วมมือโครงการนี้อย่างแข็งขันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ครั้ง ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย เป็นคณบดีและดร.ภราดร พยัคฆวิเชียร เป็นผู้รักษาการอธิการบดี ต่อเนื่องมาจนถึงคณบดีคนปัจจุบัน คือรองศาสตราจารย์ ดร.จุไรรัตน์ นันทานิชและอธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ทั้งนี้โดยผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนโดยมุ่งประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือประโยชน์ขององค์กรอย่างแท้จริง บ่อยครั้งที่ต้องมีการประชุมปรึกษาหารือและทำงานในวันหยุด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จะมาร่วมอย่างยิ้มแย้มและแข็งขันเสมอ

 

          มหาวิทยาลัยมหิดลมีส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนโครงการนี้ ตั้งแต่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ที่รับเป็นผู้ทดสอบวัคซีนทางคลินิกท่ามกลางแรงกดดันจาก “ผู้หวังดี” จำนวนไม่น้อย โดยมหาวิทยาลัยยินดีงดไม่เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับโครงการวิจัยนี้ด้วย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยพญ.อรุณีธิติธัญญานนท์ ทำหน้าที่ตรวจสอบพันธุกรรมของหัวเชื้อวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โดยพญ.พิไลพรรณ พุทธวัฒนะ ทำหน้าที่ตรวจระดับภูมิคุ้มกันของทั้งในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัคร นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ทำหน้าที่ตรวจการปลอดเชื้อปนเปื้อนในวัคซีน

 

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกงวดแรก ได้ทุ่มเทใช้ความรู้ความสามารถที่ยอดเยี่ยมทั้งทางวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษร่วมกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเราจากองค์การอนามัยโลก จนได้รับการสนับสนุนโดยโครงการระบุผลผลิตต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ทำให้เราสามารถทำตามโครงการจนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนได้สำเร็จ

 

          ผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อมาในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ กองชีววัตถุ โดยผู้อำนวยการ คือคุณธีรนารถ จิวะไพศาลพงศ์ และทีมงานซึ่งทุ่มเททำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ และอย่างมืออาชีพ ทำงานและให้ข้อแนะนำอย่างแข็งขันช่วงที่ทำเทเลคอนเฟอเรนซ์กับทางองค์การอนามัยโลก คุณธีรนารถไปราชการที่เกาหลีก็ได้อดตาหลับขับตานอนร่วมประชุมด้วย ทั้งๆ ที่เวลาเริ่มประชุมในเมืองไทยคือ 4 ทุ่ม ส่วนที่เกาหลี 2 ยามแล้ว

 

          ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่สนับสนุนงานนี้ เช่น นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ได้มีส่วนช่วยเขียนจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intent หรือ LOI) เสนอขอรับทุนสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกช่วงแรก

 

          อีกองค์กรหนึ่งที่ช่วยให้ทุนสนับสนุนการทดสอบวัคซีนในคน คือ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส.

 

          บุคคลสำคัญที่สุดที่ริเริ่ม ผลักดัน ติดตาม และทุ่มเทให้แก่งานนี้ คือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ หากไม่ได้บุคคลผู้นี้ นอกจากจะไม่มีงานนี้แล้ว องค์การอนามัยโลกอาจไม่มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยไม่คิดมูลค่าเช่นนี้

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

 

Update: 27-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code