การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
“ให้ครูรักเด็กเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กนักเรียนที่เก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”เป็นพระราชกระแสฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สอดคล้องกับงานวิจัยด้านการศึกษาระดับโลกที่ล้วนแล้วแต่ยืนยันตรงกันถึงหัวใจสำคัญของคุณภาพทางการศึกษาที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็ก
ผลงานวิจัยด้านการศึกษาระดับโลก Visible Learning โดยศาสตราจารย์ John Hattie ได้ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของความผิดพลาดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเกิดจาก การมุ่งพัฒนาแต่สิ่งที่เกิดประสิทธิภาพน้อยและไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้พบกว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลการพัฒนาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงก็คือการที่ “ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก”
เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 34 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้หยิบยกเอาตัวอย่างความสำเร็จของ “ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ” ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการใช้ “ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็ก” มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน 2 โครงการตัวอย่างที่สำคัญคือ การมีสวนร่วมของผู้ปกครอง “Parental Involvement” และพี่ช่วยน้องผองเพื่อนช่วยกัน “Peer Tutoring” ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดรางบัว มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าระบบการศึกษาของไทยที่ถูกออกแบบมาเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ เพราะตอนนี้เรากำลังเจอกับสึนามิของการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านของสังคม ที่เกินกว่าระบบที่มีอยู่จะตามได้ทัน บางคนถึงบอกว่าแทนที่ reform ต้อง reinvent ขึ้นมาใหม่
“แต่ไม่ว่าเราจะ reinvent หรือ reform ขึ้นมาใหม่ มันก็ยังมีของเก่าซึ่งภาษาไทยที่ใช้ง่ายๆ ก็คือ อกาลิโกเป็น เป็น timeless ที่เป็นจริงในทุกยุคทุกสมัยนั่นก็คือพระราชกระแสฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกันให้เห็นคุณค่าความสามัคคี สิ่งเหล่านี้เป็นอกาลิโก อย่างมูลนิธิของบิล เกตส์ ทำการทดลองไป10 ปีบอกไม่ได้เจออะไรใหม่ แต่เจอว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก โดยเฉพาะในข้อที่สองยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า การแข่งขันจริงๆ ไม่ได้ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นอย่างโครงการที่มูลนิธิฯ ทำคือเพื่อนช่วยเพื่อน โดยเฉพาะเด็กมัธยมจะเห็นผลจากงานวิจัยชัดเจนว่าเด็กเรียนกับเพื่อนมากกว่าเรียนกับครู เพราะฉะนั้นยุคมันเปลี่ยนไปแล้วทำไมไม่ให้เด็กเขาเรียนกันเอง โดยทางมูลนิธิฯ ได้นำผลงานวิจัยของ John Hattie มาศึกษาและคัดเลือกเอา 6 โครงการที่มีประสิทธิภาพสูงจากงานวิจัยที่ประกอบไปด้วยครูสอนคิด การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง พี่ช่วยน้องผองเพื่อช่วยกัน การดูแลเด็กพิเศษเบื้องต้น การพัฒนากรอบความคิด และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็ก มานำไปสู่การปฏิบัติแล้วชักชวนโรงเรียนที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการ”
พญ.ปิยาภัสร์ จิตภิรมย์ รองผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษาฝ่ายวิชาการ กล่าวว่าโครงการที่มูลนิธิทำ มีทั้งหมด 6 โครงการ แต่ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้มี 2 โครงการคือ Parental Involvement และ Peer Tutoring โดยจุดเริ่มต้นของการทำงานทุกโครงการเราจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กในโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ชีวิตของเด็กไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เด็กมีบ้านด้วยและใช้เวลาอยู่กับบ้านเยอะ เพราะฉะนั้นการที่เราจะช่วยเด็กได้จริงๆ นอกจากครูกับเด็ก เด็กกับเด็ก แล้วยังต้องมีเด็กกับพ่อแม่ด้วย
“โปรแกรม Parental Involvement เป็นการสร้างความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับที่บ้าน คือมีความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองเด็กและเด็ก เพื่อที่จะติดตามและช่วยกันส่งเสริมเรื่องของการศึกษาของเด็ก โดยงานวิจัยพบว่าการที่พ่อแม่มามีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กมีความสัมพันธ์อย่างมากกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่ดีขึ้น เด็กจะมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนเพราะพ่อแม่เอาใจใส่ สุดท้ายคือเด็กมีการปรับตัวที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ไม่ได้มาใส่ใจเรื่องนี้ นอกจากประโยชน์กับตัวเด็กแล้วการที่พ่อแม่มาสนใจเรื่องการเรียนของเด็กยังมีประโยชน์ต่อตัวพ่อแม่เอง ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าพัฒนาการของเขาเป็นยังไงและจะช่วยส่งเสริมได้ยังไง รวมทั้งการที่ได้ประสานงานกับโรงเรียนก็จะเข้าใจบริบทของโรงเรียนมากขึ้น เข้าใจการทำงานของครูและร่วมมือกับครูมากขึ้น อันสุดท้ายประโยชน์ต่อครูเอง ครูก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น การที่ครูกับพ่อแม่เป็นทีมเดียวกันจะช่วยเด็กได้มากขึ้น”
อาจารย์บุษบง พรหมจันทร์ ผอ.โรงเรียนวัดรางบัวกล่าวถึงผลของดำเนินโครงการ Parental Involvement ว่า เด็กเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับครูประจำวิชาที่เอาใจใส่นักเรียนและไว้วางใจมากขึ้น กล้าพูดกล้าถาม ปรับพฤติกรรมตนเองได้ดีขึ้นและตั้งใจเรียนมากขึ้น และภูมิใจที่คุณครูชมต่อหน้าพ่อแม่
“จากการสัมภาษณ์พ่อแม่ เขารู้สึกภูมิใจที่ครูประจำวิชาต่างๆ ชมลูกเขา ผลที่เกิดกับครู เข้าใจนักเรียนมากขึ้นเพราะบางทีรู้ปัญหาจากผู้ปกครอง เกิดการสื่อสารโดยตรงระหว่างครู ผู้ปกครอง โดยมีนักเรียนรับทราบทั้งสองฝ่าย ไม่สื่อสารทางเดียวโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนผลที่เกิดกับผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง ได้ทราบพฤติกรรมและผลการเรียนจากครูทุกรายวิชา นอกจากนี้จากการพูดคุยกับครูทำให้รู้ว่าลูกสนใจวิชาใดและสามารถแนะแนวการศึกษาต่อให้กับลูกได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยกวดขันและปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ทันเวลา”
โดยในส่วนของโครงการ “Peer Tutoring” พี่ช่วยน้องผองเพื่อนช่วยกัน พญ.ปิยาภัสร์ จิตภิรมย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า peer tutoring เริ่มต้นจากคำถามว่าทำไมต้องให้เพื่อนมาติวกันเอง ในเมื่อเรามีความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับพ่อแม่ แล้วทำไมต้องเป็นนักเรียนกับนักเรียนด้วย
“จริงๆ แล้วการทำ peer tutoring ประโยชน์มีเยอะมากจากงานวิจัยพบว่าช่วยเพิ่มทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนกันเอง ติวเตอร์จะได้ประโยชน์มากว่าเขาจะได้พัฒนาตนเอง ได้ฝึกที่จะรับผิดชอบและมีความภูมิใจในตัวเอง และเพิ่มความสามัคคีในโรงเรียน โดยให้เด็กมาสอนกันเอง ไม่ได้เอาไปทดแทนการที่ครูจะสอนนักเรียน เพียงแต่เป็นการให้เขาได้เสริมกัน ทั้งนี้ควรจะมีครูแต่ละรายวิชาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนด้วยเพื่อที่จะดูความถูกต้องของเนื้อหา”
อาจารย์บุษบง พรหมจันทร์ ผอ.โรงเรียนวัดรางบัว ยังได้กล่าวถึงประโยชน์และข้อดีที่นักเรียน โรงเรียน และครู ได้รับจากทั้ง 2 กิจกรรมว่า ทางโรงเรียนลองสัมภาษณ์ถึงผลที่เกิดกับเด็กนักเรียนออกมาว่า พบว่า หนึ่ง ได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่ เพื่อนแล้วก็น้อง เจอที่ไหน มีปัญหาเกี่ยวกับรายวิชาถามได้ สอง เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะทั้งทีมเพื่อนร่วมงาน เพราะในติวเตอร์ด้วยกันต้องแบ่งหน้าที่ สาม รู้จักหน้าที่ของผู้นำและผู้ตามที่ดี ได้ศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเพิ่มเติมนอกเหนือจากในตำราเรียน ภูมิใจที่ได้แบ่งปันความรู้ ทำให้น้องมีผลการเรียนที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับครูที่ปรึกษาและครูประจำวิชาที่เอาใจใส่นักเรียนจากการพูดคุยปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิด
“ผลที่เกิดกับครูก็คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนที่มากขึ้น สอนนักเรียนได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กนักเรียนไว้ใจ รักครูแล้ว สอนอะไรก็ง่าย นักเรียนตั้งใจเรียน เพราะศรัทธาในการเอาใจใส่และเข้าใจในตัวนักเรียนมากขึ้น ผลที่เกิดกับผู้ปกครอง นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เข้าใจ ภูมิใจ และเกิดความเชื่อมั่นในลูกหลานของเขา นอกจากนี้ลูกหลานมีผลการเรียนดีขึ้น เป็นมุมสะท้อนจากทั้งตัวเด็ก ตัวคุณครู และผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะพูดกันง่ายๆ เหมือนใจแลกใจกันระหว่าง 3 ฝ่าย คุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง”
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการของ สสค.เราพูดกันในกระทรวงบ่อยๆ ว่า นางฟ้าอยู่ในหลักการ ซาตานอยู่ในรายละเอียด นั่นหมายถึงว่าพอพูดหลักการแล้วฟังดูดีเสมอ peer tutoring หรือบอก Parental Involvement ฟังดูสวยดี แต่กระบวนทำงานที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดรางบัวนั้นเป็นการจัดการที่เป็นระบบ นอกจากจะสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีเกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้ว ประเด็นที่สำคัญยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีระหว่างครู ผู้ปกครอง และเพื่อนครูในโรงเรียนเดียวกันอีกด้วย
“การที่เราจะได้นำไปขยายผลใช้ประโยชน์โดยจับหลักจากตรงนี้ตรงที่เรามองเห็นไปทำให้พื้นที่ของเราโรงเรียนของเรา คุณครูของเรา และที่สำคัญเด็กๆ ของเรา ที่รอด้วยความหวังว่าการปฏิรูปกระบวนนี้จะเป็นกระบวนซึ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดีกับเด็กของเราจริงๆ”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวเสริมว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนั้นนอกจากจะดำเนินงานตามแนวทางที่นำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้แล้วอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การนำผู้ปกครองมาเป็นผู้ช่วยครูได้ เป็น co-teacher หรือ co-educators เพราะว่าการศึกษาที่ดี ต้องฝึกให้คน เป็นตัวของตัวเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าที่จะแตกต่าง ต้องให้เด็กลงมือทำ ต้องให้เด็กลงมือปฏิบัติ และเป็น project based learning เป็น active learning ในกรณีอย่างนี้ในหลายกรณี project ที่เด็กทำครูไม่มีความรู้ แต่ว่าไปเกี่ยวข้องกับวิชาชีพของพ่อแม่ พ่อแม่ประกอบอาชีพอยู่ทุกวัน เป็นผู้รู้ content เด็กก็จะไปปรึกษาพ่อแม่เด็กที่รู้ content ได้ หรือว่าไปขอคำแนะนำว่าไปค้นที่ไหนยังไง เพราะฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากพ่อแม่ยังทำได้อีกหลายอย่าง
“แต่ประเด็นสำคัญของวันนี้คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็ก เราจะได้เห็นว่าถ้าทางโรงเรียนทำแบบจริงจังมันก็จะขยายความสัมพันธ์นี้ออกไปสู่ผู้ปกครอง สู่แวดวงข้างนอก กว้างขวาง จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อศิษย์หรือต่อเด็ก แล้วก็ต่อครู ต่อโรงเรียนด้วย ท้ายที่สุดคือเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวการศึกษาไทย ตัวระบบ และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเรา”
ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กล่าวสรุปถึงกิจกรรมที่โรงเรียนวัดรางบัวได้ดำเนินงานทั้ง 2 กิจกรรมคือผู้ปกครองมีส่วนร่วม และพี่สอนน้องผองเพื่อนช่วยกันว่า เป็นแนวคิดและหลักการทำงานโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยมองไปที่ตัวของเด็กเป็นหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทำให้เด็กรู้จักกัน พี่รู้จักน้อง เพื่อนรู้จักเพื่อน ครูรู้จักผู้ปกครอง ผู้ปกครองรู้จักครู ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษารู้จักกันทั้งหมด และการรู้จักทำให้เกิด connection เกิดเครือข่ายเกิดความสัมพันธ์
“เพราะฉะนั้นเมื่อเกิด connection ของคน 3 วัย วัยเล็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ก็จะเกิดเรียนรู้จากกันและกัน เป็นการเรียนรู้ที่แสดงถึงการเติบโตทางสังคม ซึ่งในโรงเรียนของเรามีน้อยมาก โรงเรียนของเราสอนเรื่องการเติบโตทางสังคมน้อยมากทั้งๆ ที่คาถาของเราคือ กาย จิต สติปัญญา สังคม เรื่องสุดท้ายก็คือ ตอนนี้เราจะต้องเน้นเรื่องสัมพันธภาพอย่างมากในวงการศึกษา เพราะปัจจุบันเราแยกออกจากกันหมด หลักสูตรแยกออกจากกระบวนการเรียนรู้ เด็กในยุค IT ถูกแยกออกจากพ่อแม่ แยกออกจากครู การทำงานของมูลนิธิฯ ได้เปิดวงกว้างของการศึกษาให้เห็นว่าเรื่องของสัมพันธภาพ ถ้าคนกับคนสัมพันธ์กันเราจะเรียนรู้กันและกันได้อย่างมากมาย” ศ.กิตติคุณ ระบุ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)