การป้องกันโรคกระดูกพรุน
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ปริมาณแร่ธาตุ ในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกลดความหนาแน่น จึงเปราะบางแตกหักง่าย บริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย ได้แก่ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราจัด เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
๑. กินแคลเซียมให้พอเพียงทุกวัน อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนยแข็ง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาไส้ตัน) กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม (เช่น คะน้า ใบชะพู) งาดำคั่ว
แนวทางปฏิบัติสำหรับเด็กและวัยรุ่น ควรดื่มนมวันละ ๒-๓ แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดื่มนมวันละ ๑-๒ แก้วเป็นประจำ จะทำให้ได้รับแคลเซียมร้อยละ ๕๐ ของปริมาณที่ต้องการ ส่วนแคลเซียมที่ยังขาดให้กินจากอาหารแหล่งอื่นๆ ประกอบ
ผู้ใหญ่บางคนที่มีข้อจำกัดในการดื่มนม (เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด) ให้เลือกกินเนยแข็ง นมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย แทน หรือบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในแต่ละมื้อให้มากขึ้น
๒. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังที่มีการถ่วงหรือต้านน้ำหนัก (weight bearing) เช่น การเดิน การวิ่ง เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น ร่วมกับการยกน้ำหนัก จะช่วยให้มีมวลกระดูกมากขึ้น และกระดูกมีความแข็งแรง ทั้งแขน ขา และกระดูกสันหลัง
๓. รับแสงแดด ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร็โมนกระตุ้นการสร้างกระดูก ในบ้านเราคนส่วนใหญ่จะได้รับแสงแดดเพียงพออยู่แล้ว นอกจากในรายที่อยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ก็ควรจะออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละ ๑๐-๑๕ นาที สัปดาห์ละ ๓ วัน ถ้าอยู่แต่ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด อาจต้องกินวิตามินดีเสริมวันละ ๔๐๐-๘๐๐ มก.
๔. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอมเกินไป) เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้
๕. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น
– ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารพวกนี้จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ
– ไม่กินอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น
– ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
– หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก (กาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ ๓ แก้ว แอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ ๒ หน่วยดื่ม ซึ่งเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ ๓๐ มล.)
– งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น (เนื่องจากลดระดับเอสโทรเจนในเลือด)
– ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
๖. รักษาโรคหรือภาวะที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง